ซีพีจี้รัฐดัน 7 มาตรการ ช่วยเกษตรกรอยู่ดีกินดี

18 ส.ค. 2563 | 11:14 น.

ซีพี แนะรัฐเร่ง 7 มาตรการช่วยเกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี ทั้งยกระดับราคา เสริมเทคโนโลยี จัดการน้ำ โซนนิ่ง เพิ่มมูลค่า ตรวจสอบย้อนกลับ ชี้ปัจจัยเสี่ยงยังอื้อทั้งภัยแล้ง โรคระบาด ราคาผันผวน คนรุ่นใหม่ไม่สานต่ออาชีพ

 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร เผยว่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ได้มีการประชุมร่วมกันของประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำทีมโดยนายอันวาร์  สาและ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(ซีพี) นำทีมโดยนายสุภกิต  เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโส นายอดิเรก  ศรีประทักษ์ ประธานกรรมการบริหาร CPF   และผู้บริหารเครือซีพีจาก บมจ.ซีพีออลล์ บมจ.สยามแม็คโคร และจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร(ข้าวโพด) ณ อาคารซีพีทาวน์เวอร์ ทั้งนี้เนื้อหาการประชุมที่สำคัญส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่ระบาดหนักในประเทศ จีน และกระจายการแพร่ระบาดหนักไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติการณ์ร่วมของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนอย่างหนักหนาสาหัส ทั้งภาคการค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เช่น โรงงานมีการปรับตัว และปิดกิจการลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 90 ของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ ปัจจุบันพบว่าโรงแรมปิดกิจการไปแล้วประมาณร้อยละ 30 รวมถึงภาคเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะมีแนวทางส่งผลผลิตทางการเกษตรจากจังหวัดพังงาไปขายในจังหวัดภูเก็ตในปริมาณที่มากได้อย่างไร

 

ประเด็นปัญหาที่กรรมาธิการพบจากการลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีและพังงา เช่น ภาคการเกษตรยังขาดระบบชลประทานที่ดีและประชาชนขาดการวางแผนในการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ กล่าวคือ หากทุเรียนมีราคาสูงก็จะโค่นยางพาราทิ้ง และปลูกทุเรียนแทน ซึ่งในอนาคตหากไม่วางแผนอย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตลาด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) แต่การลงมือปฏิบัติจริงผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะผลักดัน โครงการโซนนิ่ง ดังนั้น เมื่อประชาชนเห็นว่าพืชชนิดใดมีราคาสูงก็จะปลูกชนิดนั้นทันทีทั้งนี้ ภาครัฐพยายามส่งเสริม โครงการโซนนิ่ง ควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกพืชตามที่รัฐกำหนด เช่น เดิมหากเกษตรกรเคยปลูกยางพาราและหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจหรือพืชชนิดอื่นตามที่รัฐให้การสนับสนุนก็จะได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษจากรัฐ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าที่ควร

 

 

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ปัญหาต่าง ๆ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวโดยมีแนวคิดหารือกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(ซีพี) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมการผลิต และการบริการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

 

ผู้แทนบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า สินค้าเกษตรถือเป็นทรัพย์สมบัติอันมีค่าของประเทศไทย โดยเกษตรกรถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตของประเทศมาช้านาน ภาคการเกษตรมีความสำคัญครอบคลุมประชากรถึง 9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 40 ของ ประชากรประเทศไทย มีการจ้างงานกว่าร้อยละ 30 ของกำลังแรงงาน และมีพื้นที่ดินทำกินกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแม้ว่าภาคการเกษตรจะสำคัญแต่ปัจจุบันภาคการเกษตรกลับมีสัดส่วนในจีดีพีของประเทศเพียงร้อยละ 10 และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน มีหนี้สินและยังคงทำการเกษตรในรูปแบบดั้งเดิม ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ขาดความรู้ ขาดการบริหารจัดการ ขาดการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และขาดตลาด รวมถึงขาดการแปรรูปเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตรด้วย

 

ภาคการเกษตรยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงและความท้าทาย เช่น ภัยแล้ง ภัยจากโรคระบาด ราคาที่ผันผวน เกษตรกรเข้าสู่ภาวะสูงวัย คนรุ่นใหม่ไม่ทำการเกษตร ที่ดินแปลงเล็กและการปรับเปลี่ยน เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคการเกษตรของประเทศไทยเกิดการปรับตัวให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ และทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีหลายมาตรการที่จะต้องทำ ได้แก่

 

1. ยกระดับราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มแรงจูงใจ ในการทำเกษตรเชิงคุณภาพมากกว่าการทำเกษตรในเชิงปริมาณแบบปัจจุบัน

2.ส่งเสริมการผลิตสินค้าคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัย ปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบใช้แรงงานมาเป็นการใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ใช้เครื่องทุ่นแรง ลดต้นทุนการผลิต ในระยะยาว รวมถึงการใช้การวิจัยและพัฒนาในภาคการเกษตร

 

 

3.ระบบชลประทาน น้ำถือเป็นหัวใจหลักของการเกษตร การเพิ่มพื้นที่ระบบชลประทาน รวมถึงการจัดระบบการบริหารจัดการ จะทำให้เกิดผลิตภาพและผลิตผล รวมถึงทางเลือกที่หลากหลาย ในการผลิตภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น

4.โซนนิ่งและคลัสเตอร์ การวางแผนจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ให้มี ความเหมาะสม ขนาดของพื้นที่ จำนวนเกษตรกรที่จะเข้าร่วม ชนิดพืชที่จะเพาะปลูก ความรู้ในการบริหารจัดการ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การแปรสภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการจัดจำหน่าย อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ในแต่ละพื้นที่

5.พืชมูลค่าสูง วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ ศึกษาพืชจากเดิมที่มูลค่าต่ำมาเป็นพืชมูลค่าสูง เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผลไม้ ผัก เป็นต้น

6.ตรวจสอบย้อนกลับ จะเป็นเรื่องสำคัญของการผลิตอาหาร จะต้องรู้ว่าการเพาะปลูก จะปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร มีการปนเปื้อนหรือไม่ รวมถึงการผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

7.เพิ่มมูลค่า การปรับเปลี่ยนจากการขายสินค้าเกษตรแบบเดิมให้มีรูปแบบการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยส่งเสริมให้รวมกลุ่มดำเนินการในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือองค์กรที่สามารถแข่งขันในตลาดได้