ซีพีเอฟลั่นปีทอง ธุรกิจหมูดันยอดขาย

31 ก.ค. 2563 | 09:15 น.

บิ๊กซีพีเอฟ มั่นใจปี 63 ปีทอง ยอดขายโต 8-10% ชูธุรกิจหมูในเวียดนามช่วยดันยอด มั่นใจไทยก้าวสู่ท็อป 10 อาหารโลกได้แน่ หากพาณิชย์-เกษตรฯ ดัน “ตลาดนำการผลิต”ต่อเนื่องจริง 

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เรือธงสำคัญของเครือซีพีในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มั่นใจปีนี้จะเป็นอีก 1 ปีทองของบริษัทในแง่การทำรายได้และผลกำไร จากอานิสงส์โควิด-19 ส่งผลทั่วโลกต้องการอาหารปลอดภัย และจากการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ส่งผลธุรกิจสุกรในเวียดนามของบริษัทได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ 

 

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มั่นใจปีนี้บริษัทจะมีรายได้และผลกำไรที่ดี คาดปี 2563 รายได้ของบริษัทจะขยายตัวได้ 8-10 % ตามเป้าหมาย (จากปี 2562 ซีพีเอฟมีรายได้ 532,573 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 18,456 ล้านบาท) ซึ่งในครึ่งแรกปีนี้บริษัทมีรายได้และผลกำไรที่ดีมาก จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศต้องการอาหารที่มีความปลอดภัย สอดคล้องกับการผลิตอาหารของบริษัทมีระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่ดีทำให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ส่งผลถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น

ซีพีเอฟลั่นปีทอง  ธุรกิจหมูดันยอดขาย

 

นอกจากนี้ธุรกิจสุกรของเครือในเวียดนามมีผลประกอบการที่ดี โดยบริษัท ซีพี โภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซีพีเอฟ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เผยว่างวด 6 เดือนแรกของปี 2563 คาดจะมีกำไรสุทธิประมาณ 310-330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,610-10,230 ล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 จำนวน 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นผลจากราคาสุกรในเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 และบริษัทสามารถคุมเข้มโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ที่เกิดขึ้นในเวียดนามได้เป็นอย่างดี

 

“ครึ่งแรกปีนี้รายได้และกำไรเราโตดีมาก เพราะเผอิญมีเรื่องโรคโควิด-19 และไทยก็ป้องกันได้ดีจึงไม่ได้รับผลกระทบ และยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่ซื้อสินค้าของเรา”

 

กรณีที่กระทรวงพาณิชย์จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เป้าหมายเพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และผลักดันไทยให้ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก (จากปี 2562 อยู่อันดับที่ 11) นั้น ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้อยู่แล้ว แต่จะภายในกี่ปีก็ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายจะร่วมกันผลักดันอย่างจริงจังได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการผลิตกับการตลาดต้องไปด้วยกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม-1 สิงหาคม พ.ศ. 2563