"ตลาดนำการผลิต" ผ่าตัดใหญ่ภาคเกษตรไทย ฝันไกล-ไปถึง?

16 มิ.ย. 2563 | 05:55 น.

ฤกษ์ดีวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา 2 รัฐมนตรีจาก 2 กระทรวงเศรษฐกิจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับนายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันคิกออฟวิสัยทัศน์“เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต”

หลักใหญ่ใจความ มีเป้าหมาย 1 สร้างคือ สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก และ 3 เพิ่มคือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ 2.เพิ่ม GDP ประเทศ 3.เพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการทุกระดับ ซึ่งหลังจากนี้ปลัดของทั้งสองกระทรวงได้รับมอบหมายให้ไปหารือกันเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อน 4 พันธกิจให้สำเร็จได้แก่ 1.สร้าง Single Big Data เพื่อใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน 2. สร้าง Platform “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” 3.สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ และ 4.พัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งทั้ง 4 เรื่องถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้นแต่ถ้าทำได้สำเร็จจะช่วยพัฒนาและพลิกโฉมหน้าภาคเกษตรไทยครั้งใหญ่

"ตลาดนำการผลิต" ผ่าตัดใหญ่ภาคเกษตรไทย ฝันไกล-ไปถึง?

เพื่อนำสู่เป้าหมายข้างต้น คณะทำงานต้องไปจัดทำเป้าหมายที่เป็นตัวเลข แผนปฏิบัติการ (แอ็กชั่นแพลน) ในการขับเคลื่อน และจัดทำดัชนีชี้วัดถึงสัมฤทธิผล อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ขณะที่ภารกิจคู่ขนานคือการยกระดับเกษตรทันสมัย คือนำเทคโนโลยีและข้อมูลทันสมัยมาใช้เพื่อทำการผลิตอย่างแม่นยำ ผลิตสินค้ามูลค่าสูง มีคุณภาพ ปลอดภัยได้มาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

ส่วนกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องการตลาด ก็ต้องเป็นพาณิชย์ทันสมัย คือนำเทคโนโลยี และข้อมูลทันสมัยมาใช้ในการทำตลาดอย่างแม่นยำ สร้างทีมเซลล์แมนจังหวัด(พาณิชย์จังหวัดผู้ประกอบการจังหวัด) ช่วยทำตลาดในประเทศ และเซลล์แมนประเทศ(ทูตพาณิชย์ ผู้ส่งออก)ช่วยทำตลาดต่างประเทศ ผ่าน 4 ช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์  การทำเกษตรพันธสัญญา(คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง)ให้เกษตรกรมีหลักประกันเรื่องราคารับซื้อ และเคาน์เตอร์เทรด(สร้างเวทีจับคู่ให้มากขึ้น)

นายจุรินทร์กล่าวว่า “วันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นวิสัยทัศน์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด สร้างโอกาสให้ไทยทุกคน ถัดจากนี้ทั้งสองกระทรวงยังมีภารกิจอีกเยอะที่จะต้องนำวิสัยทัศน์นี้ หลักคิดนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อเกษตรกรและเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ”

ส่วนนายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวตอนหนึ่งว่า “กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับกระทรวงเกษตรฯพาเกษตรกรก้าวผ่านความยากจนไปให้ได้และความร่วมมือวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ และภาคเกษตรเป็นความหวังในยุคโควิด-19 ฉะนั้นวันนี้ต้องทำให้ดีที่สุดร่วมกัน”

ขณะที่จากการสอบถามนายบุณยฤทธิ์  กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แม่งานหลักฝั่งกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าจะได้เร่งหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรฯเพื่อจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อน 4 พันธกิจตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป ส่วนนายอลงกรณ์  พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ไทม์ไลน์แผนปฏิบัติการ และเป้าหมายที่จับต้องได้ รวมถึงดัชนีชี้วัดต่างๆ ของวิสัยทัศน์นี้คาดจะมีรูปธรรมที่ชัดเจนไม่เกิน 60 วัน นับจากนี้

ปัจจุบันภาคเกษตรเกี่ยว ข้องกับคนหมู่มากของประเทศ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคเกษตรมีสัดส่วนยังไม่ถึง 10% ของจีดีพีรวมประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน ส่วนตัวฝันอยากเห็นจีดีพีภาคเกษตรขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 20% ของจีดีพีรวม ซึ่งนอกจากที่ไทยเน้นในเรื่องเกษตรอาหารเป็นหลักในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ต้องเร่งสร้างเพิ่มอีก 3 ภาคได้แก่เกษตรพลังงาน เกษตรสุขภาพ และเกษตรท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มจีดีพีภาคเกษตรสู่เป้าหมายดังกล่าวได้

จากวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต   พันธกิจ และเป้าหมายร่วมของทั้ง2กระทรวงที่กล่าวมา ถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติภาคเกษตรไทยให้ขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ช่วยเกษตรกรกว่า 13 ล้านครัวเรือนที่ส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ลืมตาอ้าปาก มั่งคั่ง ยั่งยืน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องมีรายได้เพิ่ม ผลพวงหนุนส่งรัฐบาลมั่นคง มีเสถียรภาพ ซึ่ง ทุกอย่างในวันนี้ยังเป็นเพียงนามธรรม จะบังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมยังต้องใช้เวลา แต่หากมีบิ๊กดาต้า ใช้ข้อมูลการผลิตและการตลาดที่เป็นฐานเดียวกัน มี  แอ็กชั่นแพลนสั้น-กลาง-ยาว มีเป้าหมายที่ชัดเจนในทุกมิติ มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ และทุกภาคส่วนรวมพลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซักวันฝันจะเป็นจริง

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14-17  มิถุนายน พ.ศ. 2563

"ตลาดนำการผลิต" ผ่าตัดใหญ่ภาคเกษตรไทย ฝันไกล-ไปถึง?