ระนองหนุนรัฐเดินหน้าSECต่อเนื่อง รับกระแสโลก“ลงทุนไทย”หลังโควิด

28 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

เอกชนระนองหนุนรัฐเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ต่อเนื่อง รวมทั้งเส้นทางรถไฟสายใหม่จากชุมพร ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อเป็นกุญแจหลักการพัฒนาและเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจภาคใต้

 

 

การรับมือโรคระบาดโควิด-19 ไทยได้รับความเชื่อมั่นจากทั่วโลก ยกให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 1 หอการค้าจังหวัดระนองชี้ หลังเหตุการณ์คลี่คลายรัฐควรเร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รองรับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ต่อเนื่อง นอกจากแผนลงทุนก่อสร้างถนน 4 เลนระนองไปพังงา และหลังสวน ที่กรมทางหลวงมีแผนงบประมาณชัดเจนแล้ว ต้องเร่งทางรถไฟสายใหม่จากชุมพร-ท่าเรือระนอง เพื่อเป็นทางรถไฟเชื่อม 2 ฟากสมุทร ให้ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าไทยสู่กลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล และยังได้โครงข่ายเส้นทางท่องเที่ยวเลียบฝั่งอันดามัน

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้า จ.ระนอง เปิดเผยว่า ภาคเอกชนจังหวัดระนอง และในจังหวัดภาคใต้ตอนบนคาดหวังว่า หลังจากวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย รัฐบาลควรเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สอดรับกับภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ จากประสิทธิภาพการรับมือโรคระบาด นักลงทุนสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้นโดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ รวมทั้ง SEC

ระนองหนุนรัฐเดินหน้าSECต่อเนื่อง  รับกระแสโลก“ลงทุนไทย”หลังโควิด

เนื่องจากพื้นที่ของโครงการ SEC รวม 4 จังหวัดคือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรี ธรรมราช เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยฝั่งด้านตะวันตกสามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล อันได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย
เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน ส่วนทางด้านตะวันออกก็สามารถเชื่อมโยงกับโครงการ EEC ได้โดยตรงจึงทำให้พื้นที่ SEC มีศักยภาพเป็นประตูคมนาคมขนส่งและเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นอย่างดี

ขณะนี้มีความพร้อมในการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ช่วงระนอง-พังงา และระนอง-หลังสวน มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท ที่กรมทางหลวงฯมีแผนงบประมาณจนถึงปี 2567 ชัดเจนแล้ว ส่วนแผนการลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันและเดินหน้า เป็นโครงข่ายคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายที่เชื่อมจากหัวหิน-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี หรือ เส้นทางถนนเลียบทะเลที่พัฒนาคู่ขนานไปกับรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนโครงการปรับปรุงสนามบินชุมพร-ระนอง-สุราษฎร์ธานี เพื่อให้สามารถรองรับทั้งปริมาณผู้โดยสารและจำนวนสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยเปิดศักยภาพของพื้นที่และกระจายความเจริญออกไปยังส่วนต่างๆ อย่างเท่าเทียม

รวมทั้งโครงการซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา SEC คือ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ควบคู่ไปกับแนวคิดการสร้าง Land bridge หรือรถไฟทางคู่เพื่อเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกชุมพร-ระนอง ที่หากพัฒนาสำเร็จก็จะช่วยให้สามารถขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกระนองไปยังท่าเรือชุมพร และเชื่อมต่อถึงท่าเรือแหลมฉบังในจังหวัดชลบุรี ได้แบบไร้รอยต่อ สามารถพัฒนาจนกลายเป็นเส้นทางหลัก สำหรับเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดสำหรับการเชื่อมต่อโครงการ EEC เข้ากับมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย รวมถึงวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ 4 จังหวัด SEC

การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมดังกล่าว ยังช่วยเสริมจุดเด่นของทั้ง 4 จังหวัด ในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวโดยชุมชม ควบคู่ไปกับโครงการ Thailand Riviera ที่มุ่งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเลียบทะเลฝั่งตะวันตก เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ (เมืองหลัก) ไปยังจังหวัดระนอง-ชุมพร (เมืองรอง) ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มรูปแบบก็จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งพักผ่อนสำหรับตากอากาศที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

โครงการ EEC และ SEC จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน รวมถึงเชื่อมโยงประเทศกลุ่มต่างๆ ให้สามารถหลอมรวมการผลิต การกระจายสินค้า รวมถึงตลาดร่วมกันได้ในอนาคตนั่นเอง

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563