‘AMATA’ ปรับพอร์ตธุรกิจ  ดันรายได้ค่าบริการแทนขายที่

07 ต.ค. 2562 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายได้ของบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ในช่วงที่ผ่านมาโตจากการขายที่ดินเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของรายได้รวม ด้วยเป้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% อย่างไรก็ดีหลังจากที่นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท ประกายุทธศาสตร์ความเป็นแลนด์ลอร์ดเมื่อ 2-3 ปี โดยพร้อมจะซื้อที่ดินเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ขาหนึ่งคือ การเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (บริการสาธารณูปโภคและธุรกิจให้เช่าที่ดิน, โรงงาน) โดยเข้าไปถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมถึงวันนี้มีจำนวนเกือบ 40 บริษัท ล่าสุดคือการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทอมตะฯ กับบริษัท Surbana Jurong Infrastructure สัดส่วน 45 :55 ถือหุ้นในบริษัท Indo-China Consultancy ซึ่งจะตั้งบริษัทในไตรมาส 4/2562 เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านวิศวกรรมแก่โครงการต่างๆของกลุ่มอมตะ

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาดบมจ.อมตะฯ กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่านโยบายบริษัทต้องการเป็นแลนด์ลอร์ด และยังคงตั้งเป้าขายเฉลี่ยที่ปีละ 10% ก็เพื่อไม่ให้กระทบรายได้ ซึ่งดูอาจจะขัดกับนโยบาย แต่สามารถทำได้โดยเป็นการเลือกขายที่ เช่นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และที่เวียดนามแทน ยกเว้นที่จังหวัดชลบุรี จะชะลอเปลี่ยนมาเป็นการให้เช่าที่ดินแทน ทั้งนี้จะเห็นว่า หลังจากที่ต้นปีนี้ บริษัทได้ปรับราคาขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ขึ้นเป็นไร่ละ 11 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 29% และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เป็นไร่ละ 4.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ก็เพื่อใช้เป็นฐานราคาใหม่ในการทำสัญญาเช่ามากกว่าหวังผลในเรื่องการขายที่ดิน

‘AMATA’ ปรับพอร์ตธุรกิจ  ดันรายได้ค่าบริการแทนขายที่

อมตะ มีแลนด์แบงก์ทั้งสิ้นกว่า 14,000 ไร่ จำนวนนี้เป็นที่ดินในนิคมฯชลบุรี 11,000 ไร่ โดยมีที่ดินพัฒนาพร้อมขายแล้ว 1,000 ไร่ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มากกว่า 70% เป็นจีน ยกเว้นที่นิคมฯชลบุรียังเป็นญี่ปุ่นเป็นหลักมากกว่า 60% จากการที่นิคมฯอมตะได้รับอานิสงส์ จากผล กระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ -จีน ประกอบการมาตรการ Thailand Plus ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่สร้างแรงจูงใจ ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังไทยและนิคมอุตสาหกรรมอมตะที่เวียดนาม ปัจจุบันนิคมฯอมตะซิตี้ ลองถั่น มีพื้นที่รวมกว่า 1 พันเฮกเตอร์ เป็นที่ดินพัฒนาพร้อมขาย 66 เฮกเตอร์ และนิคมฯอมตะซิตี้ฮาลอง ภาคเหนือของเวียดนาม ที่จะพัฒนาในเฟสแรกมีพื้นที่กว่า 700 เฮกเตอร์

 

“เป้าหมายบริษัท ต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก recurring income (รายได้ที่เกิดขึ้นประจำอาทิ รายได้จากค่าสาธารณูปโภค, จากการให้เช่า ตลอดจนเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้า ฯลฯ) ซึ่งมีความเสถียรมากกว่าการขายที่ดินที่มีความผันผวนสูง ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง โดยจะเห็นว่าในบางปีที่มีปัญหาการเมืองในประเทศ ยอดขายจะตกฮวบ (ปี 2557 ยอดขายเหลือ 367 ไร่ จากปกติ 600-800 ไร่) โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำเป็น 80% และจากการขายที่ดิน 20%”

จากงบการเงินบริษัทในช่วง 3 ปี พบว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากการขายที่เริ่มเปลี่ยนอย่างชัดเจน โดย 6 เดือนแรกปีนี้ สัดส่วนรายได้จากการขายที่อยู่ที่ 42% และมีอัตรากำไรขั้นต้น หรือมาร์จินราว 51% ส่วนอีก 58% มาจากรายได้ค่าสาธารณูปโภค (รายได้จากการขายนํ้าให้กับผู้ประกอบการในนิคม และค่าบริการ) สัดส่วนใกล้เคียงคือ 41.7% มาร์จิน 32% ส่วนรายได้จากธุรกิจโรงงานให้เช่าสำเร็จรูป มีสัดส่วน 16.2% และมาร์จิน 77%

ทั้งนี้ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการบริษัทจะประชุม เพื่อรับรองผลประกอบการไตรมาส 3/2562 และจะนำเสนอแผนธุรกิจและงบประมาณการลงทุนของปี 2563  ปัจจุบันบริษัทมีแบ็กล็อก  3,700  ล้านบาท คาดยอดขายในปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย 900 ไร่ เติบโตจากปี 2561 ที่มียอดขาย 863 ไร่ (รวมนิคมที่เวียดนาม) หรือเพิ่มอย่างน้อย 5% ส่วนยอดขายปี 2563 คาดจะเติบโต 10%

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

                     ‘AMATA’ ปรับพอร์ตธุรกิจ  ดันรายได้ค่าบริการแทนขายที่