แจงยิบแผนพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะ3

01 ต.ค. 2562 | 06:48 น.

 

เปิดแผนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งพัฒนา 2 ช่วง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย หลังจากที่ กนอ.ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทกัลฟ์     เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด  (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ว่า  เป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยให้เอกชนได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบนพื้นที่ จำนวน  200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง   

สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท โดยในช่วงที่ 1 จะเป็นการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยบริษัทคู่สัญญาที่ได้ลงนาม  ในวันนี้ (1 ตุลาคม 2562) แล้วก็สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที  ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูลในช่วงที่ 1 จะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่  รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568

นอกจากนั้นในช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure)กนอ.จะดำเนินการออกทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่  เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า