กฟผ. ยันเปิดเสรีนำเข้าLNG ช่วยค่าไฟถูกระยะยาว

27 ส.ค. 2562 | 07:42 น.

กฟผ. ยันนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน เพื่อเพิ่มการแข่งขันธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติ  เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ลดการผูกขาด ส่งผลดีค่าไฟฟ้าถูกลงในระยะยาว และสัญญาการนำเข้า ฯ มีความยืดหยุ่น ไร้ปัญหาค่า Take or Pay  

 

หลังมีข่าวว่านายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะยกเลิกนโยบายการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติไว้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ที่มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปดำเนินการ เพื่อทดสอบการเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี นอกเหนือจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รายเดียวดำเนินการอยู่นั้น เนื่องจากมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น 2.1-2.4 สตางค์ต่อหน่วย และยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าในขณะนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศยังมีความสมดุลย์อยู่

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของ กฟผ. 1.5 ล้านตันต่อปี  เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในการเปิดเสรีแก่บุคคลที่สาม โดยมอบหมายให้ กฟผ. นำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่ง กฟผ. ดำเนินการเปิดประมูลจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติตามขั้นตอนอย่างเปิดเผยและโปร่งใส โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายทั้งในประเทศและต่างประเทศแข่งขันเสนอราคา จนกระทั่งได้ผู้เสนอราคาแอลเอ็นจีที่มีราคาถูกกว่าราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศในปัจจุบัน และหากนำไปเฉลี่ยรวมกับก๊าซธรรมชาติจาก อ่าวไทยและเมียนมาร์จะมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับแอลเอ็นจีที่ใช้อยู่ในระบบปัจจุบัน โดยจะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

กฟผ. ยันเปิดเสรีนำเข้าLNG  ช่วยค่าไฟถูกระยะยาว

 

ส่วนความกังวลว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ. จะทำให้เกิดปัญหาค่าปรับตามสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay นั้น กฟผ. มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา เนื่องจาก กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดค่า Take or Pay โดยสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีของ กฟผ. มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า โดยกำหนดปริมาณไว้ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี อีกทั้ง กฟผ. ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขายแอลเอ็นจีส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทน กฟผ. ต่อไป

 

“กฟผ. ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดย กฟผ. เล็งเห็นถึงโอกาสในการเลือกซื้อแอลเอ็นจีในราคาต่ำสุด ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากใช้ไฟฟ้าราคาถูกลงในอนาคต”

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีของกฟผ.จะอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้นตันต่อปี หากสามารถลงนามในสัญญากับบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซียได้ในช่วงดือนกันยายนนี้ได้ จะนำเข้าล็อตแรกราว 2.8 แสนตัน  จากนั้นในช่วงปี 2563-2569 จะเป็นการนำเข้าเต็มอัตราตามเงื่อนไขสัญญาระยะยาว 8 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท และค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจะเกิดขึ้นในปี 2562-2563 เท่านั้น หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.9 พันล้านบาท 

กฟผ. ยันเปิดเสรีนำเข้าLNG  ช่วยค่าไฟถูกระยะยาว