ปตท.ปั้นฮับLNGเอเชีย นำรายได้ช่วยลดค่าไฟฟ้า

08 ส.ค. 2562 | 23:30 น.

ปตท.เล็งปั้นไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีของภูมิภาคเอเชีย รอกกพ.ไฟเขียวปลดล็อกการนำเข้า-ส่งออก และรับบริการฝากก๊าซ หวังใช้คลังแอลเอ็นจีที่มาบตาพุดให้เต็มศักยภาพ มีรายได้เพิ่ม นำไปช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน คาดเปิดเชิงพาณิชย์ได้ต้นปีหน้า

การประกาศนโยบายด้านพลังงานของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาค ด้วยการลงทุนก่อสร้างสายส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการแข่งขันประมูล ที่มีเป้าหมายจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในระยะ 20 ปี ไม่สูงกว่า 3.60 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีของภูมิภาคนี้อีกด้วย เนื่องจากไทยมีศักยภาพและมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ที่จะกระจายก๊าซแอลเอ็นจี ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ที่มีความต้องการใช้ในช่วงหน้าหนาวในปริมาณมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายหรือระเบียบยังไม่เอื้อที่จะให้ก๊าซแอลเอ็นจีที่บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด นำเข้ามาและส่งออกยังไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างดำเนินงานปลดล็อกในเรื่องนี้

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กกพ.ได้เปิดรับสมัครให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงานหรือ ERC Sandbox ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทดสอบ วิจัย และการพัฒนานวัตกรรม โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลบางประการที่มีอยู่เดิม ให้สามารถดำเนินงานจนกว่าจะพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนการใช้งานในวงกว้างหรือในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ซึ่งกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาสมัคร ที่จะใช้ท่าเรือ สถานีรับ-จ่าย และคลังก๊าซแอลเอ็นจีที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ทดสอบการเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ ทั้งในรูปแบบการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการรับฝากแอลเอ็นจีด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากทางปตท.ต้องการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ จากคลังก๊าซแอลเอ็นจีที่มีขนาด 5.2 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันกฎระเบียบอนุญาตให้เฉพาะการนำเข้ามาเท่านั้น และยังไม่มีกฎระเบียบที่ใช้ในการรับฝากแอลเอ็นจี ดังนั้น ปตท.จึงขอทดสอบการดำเนินงานจากกฎระเบียบที่ยังไม่มีรองรับ

“ปัจจุบันการดำเนินงานด้านก๊าซแอลเอ็นจียังไม่มีระเบียบออกมารองรับ เช่น นำเข้ามาแล้ว ไม่สามารถส่งออกได้ และการรับฝากโดยคิดค่าบริการก็ไม่สามารถทำได้ เมื่อมาเข้าโครงการนี้แล้ว และผ่านการคัดเลือกที่จะสรุปผลในเดือนสิงหาคมนี้ พื้นที่คลังก๊าซแอลเอ็นจี จะได้รับการผ่อนปรนในข้อระเบียบต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้ท่าเรือ สถานีรับ-จ่ายและคลัง มีประสิทธิภาพสูงสุดได้จากการทำเทรดเดอร์ เพราะคลังแห่งนี้จะมีผู้ที่นำมาฝาก และซื้อออกไปขายต่อได้”

 

แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างรอการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ ERC เพื่อทดลองเป็นฮับแอลเอ็นจีของภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันมีคลังขนาด 5.2 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 7.5 ล้านตันต่อปี จะแล้วเสร็จในปี 2565 รวมเป็น 12.7 ล้านตันต่อปี ซึ่งมองว่ามีศักยภาพที่จะทำเป็นฮับแอลเอ็นจีของภูมิภาคได้ และเป็นการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ปัจจุบันระเบียบกำหนดให้นำเข้าแอลเอ็นจี แต่ไม่อนุญาตส่งออก และไม่อนุญาตให้รับฝาก หากปลดล็อกได้จะช่วยให้สามารถนำแอลเอ็นจีส่งขายไปยังต่างประเทศได้ หรือต่างประเทศสนใจที่จะนำแอลเอ็นจีมาฝากไว้ 1 สัปดาห์ 1 เดือนหรือ 3 เดือน ได้ ซึ่งจะทำให้คลังแอลเอ็นจีถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น และช่วยสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยมีแนวคิดว่าจะนำรายได้ที่เกิดขึ้นนี้ไปแบ่งให้กับภาครัฐนำไปช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าภาคประชาชนปรับลดลงได้ระดับหนึ่ง

ส่วนการดำเนินงานนั้น หลังจากกกพ.อนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการทดสอบทันที เพราะได้เตรียมบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว และการตรวจสอบระบบต่างๆ ให้มีความพร้อมรองรับไว้แล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ แล้ว ที่จะนำแอลเอ็นจีมาฝากในช่วงที่ราคาแอลเอ็นจีถูก เพื่อส่งไปใช้ในช่วงหน้าหนาวที่แอลเอ็นจีราคาแพงเกือบเท่าตัว ซึ่งประเมินหากการทดสอบประสบความสำเร็จด้วยดี ในช่วงต้นปีหน้าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ปตท.ปั้นฮับLNGเอเชีย  นำรายได้ช่วยลดค่าไฟฟ้า