ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’ งัดพรก.อุ้มเเบงก์

23 มิ.ย. 2562 | 04:25 น.

ก.ล.ต.ลั่นพร้อมงัดพ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลตีตรา “ลิบรา” เงินดิจิทัลเฟซบุ๊ก หวั่นกระทบ “โมเดลธุรกิจแบงก์ ระบบชำระเงิน” กูรูการเงินเตือนองค์กรในไทยเร่งศึกษา วงการเทคโนโลยี เชื่อพลิกธุรกรรมการเงินโลก

ปรากฏการณ์เฟซบุ๊กประกาศจับมือ 27 พันธมิตร เบื้องต้นมีทั้งกลุ่มเพย์เมนต์ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มบล็อกเชน กลุ่มเวนเจอร์
แคปิตอล เปิดตัวคริปโตเคอร์ เรนซี (Crypto Currency) สกุลเงิน “Libra” (ลิบรา) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2563 ในนามสมาคมลิบรา พร้อมพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital wallet ชื่อ Calibra แอพพลิเคชันให้บริการรับแลกและโอนเงินลิบราบนมือถือ หรือ WhatsApp และ Messenger คาดว่าภายในครึ่งปีแรกปี 2563 จะมีสมาชิกเข้าร่วม 100 รายนั้น

ต่อประเด็นดังกล่าว (19 มิ.ย.) นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คงต้องรอฟังความชัดเจนของรูปแบบและกลไกการทำงานระบบลิบรา เข้าใจว่าเฟซบุ๊กอยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมในการเป็นตัวกลางในการรับแลกลิบราและเนื่องจากเฟซบุ๊กมีการใช้งานทั่วโลก ย่อมจะมีผู้กำกับดูแลทั่วโลกที่ติดตามและรอดูความชัดเจนอยู่

 

กลต.ลั่นพร้อมรับ“ลิบรา”

นายธวัชชัย พิทยโสภณ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ออกกฎหมายหรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกรณีลีบรานั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. สินทรัพย์ที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซี และ 2. โทเคนดิจิทัล ที่ขายเฉพาะในกลุ่มผู้ก่อตั้งเท่านั้น ไม่เปลี่ยนมือให้กับคนนอก แม้การเข้าร่วมลงทุนจะเข้าข่ายเป็น โทเคนดิจิทัล ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 แต่เป็นการถือครองในกลุ่มผู้ก่อตั้งในต่างประเทศเท่านั้น ก.ล.ต.จึงเน้นกำกับดูแลในส่วนของคริปโตเคอร์เรนซี โดยหากมีคนนำเข้ามาทำธุรกรรมในไทย โดย ก.ล.ต.สามารถกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นนายหน้า หรือผู้ค้า หรือเป็นศูนย์กลางในการซื้อขาย จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ตามกฎหมาย

ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’  งัดพรก.อุ้มเเบงก์

ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’  งัดพรก.อุ้มเเบงก์

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าเฟซบุ๊ก ดำเนินการตามไทม์ไลน์ที่กำหนดภายในปี 2563 เท่ากับเหลือเวลาเพียง 6 เดือน ที่สกุลเงินลิบราออกสู่ตลาดโลก หากมองในประเด็นข้อกฎหมายหรือการกำกับดูแลไทยอาจไม่ทัน และยังมีหลายมิติที่น่าห่วง โดยเฉพาะองค์กรกำกับ โอกาสที่จัดการ
เฟซบุ๊กค่อนข้างยาก เพราะการกำกับดูแลภายในไทยปัจจุบันยังมีความเสี่ยงที่ไม่ถูกเปิดเผย เวลานี้สกุลเงินยุคใหม่นอกจากไม่ถูกควบคุมแล้วยังมีความเสี่ยงถูกโจมตีระบบ ดังนั้นเมื่อโลกการเงิน มีพัฒนาอย่างที่เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ใช่แค่เฝ้าระวัง แต่ควร หาทางป้องปรามหรือป้องกันแล้ว

ด้านนายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของเฟซบุ๊ก นอกจากเป็นการรวมตัวกับพันธมิตรหลายองค์กรและดำเนินธุรกิจเป็นแพลต ฟอร์มที่ให้บริการ e-Wallet ซึ่งจะต้องตีความในแง่ของกฎหมายหลายประเด็น เช่น เฟซบุ๊กเป็นผู้ให้บริการหรือไม่ หรือจะใช้กฎหมายฉบับไหนไปจับ แม้ไทยจะมีพระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎหมายกำกับสกุลเงินดิจิทัล

“ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนที่จะรับมือ เพราะโมเดลธุรกิจหรือรายละเอียดของเฟซบุ๊กเองยังไม่ชัด แม้ทางการสหรัฐฯเองยังไม่พร้อม เห็นได้จากการเชิญ
นายมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก เข้าไปพูดคุย แต่เชื่อว่าหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างต้องเร่งศึกษา รวมทั้งกลุ่มแบงก์ เพราะอนาคตเฟซบุ๊กน่าจะขยายพันธมิตรเพิ่มและแบงก์เป็นกลุ่มที่เข้าไปร่วม ซึ่งต้องศึกษาดีๆทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัว การฟอกเงินและการสร้างระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็ม แต่เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนที่สกุลเงินลิบราจะเข้าสู่ระบบซึ่งอาจจะไม่ทัน”

สำหรับผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจธนาคารนั้น นายกิตติยอมรับว่า เมื่อ Calibra ให้บริการทำธุรกรรมโอนเงินย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียม แต่อนาคตเฟซบุ๊กอาจดึงธนาคารเข้าไปร่วม

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี กล่าวว่ากระทรวงดีอี ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบแพลตฟอร์มยืนยันตัวตน หรือ ดิจิทัล ไอดี โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามาช่วยให้การยืนยันตัวตนของบุคคลชัดเจนขึ้น

ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’  งัดพรก.อุ้มเเบงก์

 

เปิดโลกธุรกรรมการเงินใหม่

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าการเปิดตัว “ลิบรา” (Libra) ถือเป็นการเปิดโลกของการทำธุรกรรมการเงินใหม่ของโลก เบื้องต้นเฟซบุ๊ก น่าจะเปิดบริการ ที่ให้ผู้ใช้สามารถโอนเงิน จ่ายเงิน สกุล “ลิบรา” โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ประเด็นสำคัญ คือ ลิบราเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน นอกจากนี้เฟซบุ๊ก ร่วมกับพันธมิตร 27 ราย ทั้งอูเบอร์ อีเบย์ วีซ่า มาสเตอร์การ์ด ตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาเป็นคนกลางดูแล  ทั้งนี้กลุ่มที่ถูกกระทบจากโปรเจ็กต์ “ลิบรา” มากสุด คือ ผู้ให้บริการทางการเงิน ส่วนกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโปรเจ็กต์ลิบรามากสุด น่าจะเป็นกลุ่มโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านบริการต่างๆ ของเฟซบุ๊กทำได้ง่ายขึ้น โดยสามารถทำธุรกรรมข้ามแพลตฟอร์มในกลุ่มเฟซบุ๊ก ทั้ง เมสเซนเจอร์ วอตส์แอพ และอินสตาแกรม”

 

ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’  งัดพรก.อุ้มเเบงก์

ทรูมันนี่ใจดีสู้เสือ

ด้านนางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ต “ทรูมันนี่” กล่าวว่า เฟซบุ๊กคงมุ่งให้บริการลิบราในอเมริกาเหนือก่อน โดยใน 2 ปีข้างหน้าอาจยังไม่ชัดเจนในการให้บริการไปสู่วงกว้างระดับแมสสเกล ซึ่งจะต้องถูกกำกับดูแลโดยผู้กำกับดูแล เช่นเดียวกับในไทย เฟซบุ๊กไม่มีไลเซนส์ให้บริการธุรกรรมการเงินในไทย เชื่อว่า 2 ปีนี้คงไม่มีผลกระทบอะไรกับธุรกิจของบริษัท

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,481 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’  งัดพรก.อุ้มเเบงก์