ดันร่างพ.ร.บ.กาสิโนถูกกฎหมายแสนล้าน สัมปทานเอกชน 20 ปี

17 มี.ค. 2567 | 05:38 น.

เปิดร่าง พ.ร.บ.กาสิโนถูกกฎหมาย ฉบับ กมธ.วิสามัญศึกษาเปิดสถานบันเทิงครบวงจร 10 หมวด 68 มาตรา ตั้ง “บอร์ดกาสิโน” มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ ออกใบอนุญาต ด้วยวิธีประมูลสัมปทาน 20 ปี ต่อได้คราวละไม่เกิน 5 ปี ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรฯ เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... เพื่อให้การเปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
  • ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... มีทั้งหมด 10 หมวด 69 มาตรา เพื่อกำหนดแนวทางการจัดองค์กรกำกับดูแล และหลักเกฑณ์การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย
  • กมธ. เสนอหลักเกณฑ์การตั้งกาสิโนถูกกฎหมายด้วยการเปิดประมูล สัมปทานใบอนุญาตระยะเวลา 20 ปี ต่อได้คราวละไม่เกิน 5 ปี โดยผู้ที่จะเข้าประมูลต้องเป็นนิติบุคคลไทย-ทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท 
  • ประเภทธุรกิจของสถานบันเทิงครบวงจรที่จะมีกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วยตามบัญชีแนบท้ายกฎหมายมี 12 ประเภทกิจการ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม 5 ดาว ยอร์ช-ครูซซิ่งคลับ 

 

ความคืบหน้าการเปิดบ่อน "กาสิโนถูกกฎหมาย" ใน "สถานบันเทิงครบวงจร" หรือ "Entertainment Complex" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่และเพิ่มเติมรายได้เข้าประเทศ

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรฯ

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการด้านกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... เพื่อเสนอประกอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรฯ ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 28 มีนาคม 2567 เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 10 หมวด 69 มาตรา ประกอบด้วยหลักการสำคัญ คือ 1. การจัดองค์กร และ 2. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ดังนี้

1. ด้านการจัดองค์กร

ด้านการจัดองค์กร ได้กำหนด ให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คือ "คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร" และ "คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร" โดยมี "สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร(กธบ.)" ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

คณะกรรมการนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร มีองค์ประกอบ คือ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากนักวิชาการหรือตัวแทนภาคประชาสังคม จำนวนไม่เกิน 4 คนเป็นกรรมการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจ ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การอนุมัติ และเพิกถอนใบอนุญาตกำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดลักษณะประเภทของธุรกิจ พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตในสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียม กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ฯลฯ รวมถึง ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นต้น

คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร

คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เรียกว่า คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ มีปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ

คณะกรรมการบริหารสถานบันเทิงครบวงจร มีอำนาจที่สำคัญคือ พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดดูแลการปฏิบัติงานแผนการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายของข้าราชการในสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร(กธบ.) รวมถึงการทำหน้าที่บริหาร “กองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิง” 

สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

“สำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” หรือ “สำนักงาน กธบ” จะมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น  มี “เลขาธิการ” โดยการแต่งตั้งของคณะกรรมการนโยบายฯ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ 

โครงสร้างการจัดองค์กรกาสิโนถูกกฎหมาย

2. ด้านการประกอบธุรกิจ

ด้านการประกอบธุรกิจใน "ร่าง พ.ร.บ.กาสิโน" ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต ประเภทของใบอนุญาตจำนวนใบอนุญาต ระยะเวลาของใบอนุญาต การกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เงื่อนไขการเปลี่ยนเจ้าของใบอนุญาต บทกำหนดโทษ และการเพิกถอนใบอนุญาต โดยการประกอบธุรกิจ

หลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมาย

เบื้องต้นในร่างกฎหมายของกมธ.กำหนดให้สถานบันเทิงครบวงจรต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลผ่านการประมูลใบอนุญาต (License) อายุ 20 ปี ต่อใบอนุญาตได้คราวละไม่เกิน 5 ปี 

ดันร่างพ.ร.บ.กาสิโนถูกกฎหมายแสนล้าน สัมปทานเอกชน 20 ปี

นอกจากนี้กมธ.ยังเห็นว่า การเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย ควรตั้งอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ตามที่คณะกรรมการ นโยบายประกาศกำหนด เบื้องต้นกมธ.เห็นว่าควรตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากสนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ครอบคลุม 17 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่จังหวัดที่เป็นท่องเที่ยวหลัก จำนวน 22 จังหวัด และพื้นที่ตามแนวชายแดนรวม 22 จังหวัด

พื้นที่เป้าหมายเปิดกาสิโนถูกกฎหมาย

ส่วนคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมาย ต้องเป็น “นิติบุคคล” จดทะเบียนในไทย มีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระเต็มไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมแผนผังบริเวณ-อาคาร รูปแบบ-แผนประกอบธุรกิจ โครงสร้างองค์กร กรรมการ-ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น แหล่งเงินทุน

 

"สำหรับการจะเปิดให้มีสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)ในประเทศไทยนั้น ในด้านการลงทุนและการหารายได้เข้ารัฐ อาจให้มีใบอนุญาตในหลาย ๆ ประเภทแบ่งตามมูลค่าการลงทุน ได้แก่ size S, M, L และ XL ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกใบอนุญาตควรมีประเภทเดียว ได้แก่ ใบอนุญาต size XL มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 100,000 ล้านบาท

การให้ใบอนุญาต size อื่น ๆ จะมีการพิจารณาเป็นลำดับถัดไป หากการอนุญาตชุดแรกประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดสถานบันเทิงครบวงจรที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสูงลงทุนในประเทศไทยก่อนอันเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสถานบันเทิงครบวงจรประเภทอื่น ๆ ที่จะตามเข้ามาในอนาคต" รายงานกมธ..ระบุ

 

สำหรับประเภทธุรกิจของสถานบันเทิงครบวงจร ที่จะอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย กำหนดไว้ 12 ประเภท ได้แก่  

  1. ห้างสรรพสินค้าครบวงจร 
  2. โรงแรมระดับ 5 ดาว
  3. ร้านอาหารและบาร์
  4. ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่
  5. ศูนย์สุขภาพครบวงจร
  6. สนามกีฬา
  7. ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ
  8. สถานที่เล่นเกม
  9. สระว่ายน้ำและสวนน้ำ
  10. สวนสนุก
  11. พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP
  12. กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

ประเภทธุรกิจของสถานบันเทิงครบวงจร ที่จะอนุญาตให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย

ภาษีกาสิโนถูกกฎหมายที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย

ในรายงานของกมธ. ยังได้เสนอแนวคิดในการจัดเก็บ "ภาษีกาสิโน" โดยคิดจากรายได้ขั้นต้นจากการเล่นพนัน (Gross Gambling Revenue; GGR) กล่าวคือ รายได้หลังการหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้นที่ผู้ประกอบการได้จากผู้เล่นที่วางเดิมพันในอัตรา 17%

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรได้เสนอโมเดลการจัดเก็บ 3 ขั้น 

  1. รายรับรวมจากการเล่นเกม 0-20 ล้านบาท อัตราภาษี 20%
  2. รายรับรวมจากการเล่นเกม มากกว่า 20-40 ล้านบาท อัตราภาษี 25%
  3. รายรับรวมจากการเล่นเกม 40 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 30%

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับการยกเว้น

ภาษีกาสิโนถูกกฎหมายที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย

เสนอเก็บภาษีคนไทยใช้บริการกาสิโนถูกกฎหมาย

รายงานของกมธ.  ยังเสนอให้กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการ (Entry levy) การป้องกันกลุ่มเปราะบางเข้าใช้บริการ ซึ่งประเทศไทยควรใช้การเก็บภาษีการเข้าใช้บริการ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกในการปฏิบัติ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันกลุ่มคนเปราะบางเข้าใช้บริการ ทั้งนี้การเก็บภาษีการเข้าใช้บริการควรกำหนดในอัตราที่เหมาะสมกับฐานรายได้ของคนไทย และเก็บแค่บุคคลที่มีสัญชาติไทย

โดยตัวอย่างอัตราการเก็บในประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศสิงคโปร์จัดเก็บที่อัตรา 4,500 บาทต่อวัน ประเทศญี่ปุ่นที่อัตรา 1,300 บาทต่อวัน เป็นต้น ซึ่งนอกจากการกำหนดอายุ และการป้องกันกลุ่มคนเปราะบางแล้ว ควรมีการกำหนด Negative list อื่น ๆ เพื่อป้องกันบุคคลต้องห้ามกลุ่มอื่น ๆ เข้าใช้พื้นที่กาสิโนตามมาตรฐานสากล เช่น บุคคลซึ่งศาลสั่งห้ามเข้า บุคคลซึ่งถูกสมาชิกในครอบครัวร้องขอให้ห้ามเข้า เป็นต้น

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายยังเสนอให้มีการจัดตั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อลดผลกระทบจากการพนันและสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร การเล่นการพนัน การส่งเสริมการศึกษาและการสาธารณสุข การสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพนัน

รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการพนันผิดกฎหมาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร โดยจัดสรรเงินรายได้จากธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรและการพนันเข้ากองทุน มีคณะกรรมการเป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการกองทุนดังกล่าว มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมกันพิจารณาใช้เงินกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว