บิ๊กเนมฮ่องกง บุกตลาดอาหารเสริม 8.7 หมื่นล้าน ยึดไทยฮับอาเซียน

23 ก.ค. 2566 | 06:45 น.

ตลาดอาหารเสริม 8.7 หมื่นล้านเนื้อหอม “ไวต้า กรีน” แบรนด์ดังจากฮ่องกงประกาศปักหมุดยึดไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน จ่อวางสินค้าต้นปีหน้า พร้อมหาตัวแทนจำหน่ายช่องทางออฟไลน์

ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า ปีพ.ศ. 2565 คนไทยมีการซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มสุขภาพ เช่น วิตามิน อาหารเสริม เติบโตขึ้น 229% จากปีพ.ศ. 2562 โดยผู้บริโภคกว่า 60% ต้องการผลลัพท์ด้านความงามโดยเฉพาะอ่อนกว่าวัย รองลงมาคือต้องการมีผิวที่ดีขึ้น แต่ในปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าเทรนด์ผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางการรับประทานอาหารอาหารเป็นยา วิตามินเพื่อสุขภาพและยาสมุนไพร

นางสาว ไอวี่ เชาว์ สุนทรสีมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวต้า กรีน เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของตลาดอาหารเสริมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โควิดโดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาทเติบโต 5-8% ทุกปีทำให้ “ไวต้า กรีน” ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารเสริมจากฮ่องกงที่ มีแผนขยายตลาดในประเทศไทยโดยตั้งบริษัทลูก “ไวต้า กรีน เอเชีย (ประเทศไทย)” เพราะเล็งเห็นศักยภาพในการเติบโตและการขยายไปยังอาเซียนเพราะไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

บิ๊กเนมฮ่องกง บุกตลาดอาหารเสริม 8.7 หมื่นล้าน ยึดไทยฮับอาเซียน

สำหรับแผนการขยายธุรกิจในประเทศไทย เบื้องต้นได้นำเข้าผลิตภัณฑ์เรือธง 4 รายการ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดหลินจือและถั่งเช่าเข้ามานำร่องเปิดตลาดตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเพื่อขึ้นทะเบียนกับอย. แต่ล่าช้ามาจนถึงปัจจุบันที่ยังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการขออนุญาตจากอย. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และหลังจากได้อย.แล้วบริษัทจะเริ่มขยายธุรกิจในประเทศไทยทันที

โดย “ไวต้า กรีน ประเทศไทย” จะดูแลในฝั่งของช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ทั้งหมด ส่วนช่องทางการจำหน่ายออฟไลน์ที่ครองสัดส่วนยอดขายหลักในฮ่องกงผ่าน ไวต้า กรีน ช้อปกว่า 30 สาขา ร้านวัตสันนั้นผู้บริหารยอมรับบริษัทไม่มีความถนัดและเชื่อว่าคนในพื้นที่น่าจะรู้ดีที่สุดว่าคนไทยชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร

ดังนั้นนอกจากแผนเปิดแฟลกชิปสโตร์ หรือร้านไวต้า กรีนช้อป แล้วบริษัทจะมองหาตัวแทนจำหน่ายที่มีวิชั่นตรงกันเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งจากการเข้าร่วมงาน Expo ได้รับฟีดแบคที่ดี มีตัวแทนจำหน่ายหลายบริษัทที่มีศักยภาพ เบื้องต้นบริษัทไม่ได้กำหนดจำนวนตัวแทนขึ้นอยู่กับว่าตัวแทน แต่ละรายมีความถนัดในช่องทางไหน เช่นร้านขายยา โรงพยาบาลหรือร้านสแตนด์อะโลน บริษัทก็จะให้สิทธิในการกระจายสินค้าในช่องทางนั้นๆ

“ในฮ่องกงการแข่งขันถือว่าน้อยกว่าเมืองไทยเพราะเราเป็นผู้นำตลาดมากว่า 30 ปี แต่ประเทศไทยเรายังเป็นแบรนด์ใหม่จึงมีความท้าทายสูงกว่า และในตลาดเองมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันอยู่ เราจึงเลือกถังเช่าและหลินจือเข้ามาก่อนเพราะคนไทยรู้จักกันดี

ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆยังจำเป็นจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคชาวไทยก่อน ซึ่งถ้าเราเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเราอาจจะไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของการสร้างแบรนด์มากนัก เราจึงเลือกเปิดบริษัทลูกที่นี่ด้วยความที่เราเป็น Owner เราจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง แบรนด์อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับการทำตลาดในประเทศไทยคือ “ราคา” ซึ่งบริษัทพยายามที่จะรักษาราคาให้อยู่ในระดับเดียวกันกับที่ขายในฮ่องกงคือประมาณ 1,500 - 2,500 บาท และหลังจากสามารถนำเข้าเฟสแรก 4 รายการ สำเร็จซึ่งคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทจะเร่งทำการตลาดทันทีโดยเน้นไปที่การทำตลาดออนไลน์ และจัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่รวมทั้งสื่อสารตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีข้อความสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายในแบบที่แตกต่างกัน

หลังจากนั้นจะนำเข้าผลิตภัณฑ์เฟส 2 ประมาณ 10-20 รายการ ที่คัดมาแล้วว่าเหมาะกับตลาดประเทศไทยจากจำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 40-50 รายการ ทันทีเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตและขึ้นทะเบียนจากอย.นาน นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นลาวและกัมพูชา ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายไปตลาดต่างประเทศด้วย

“ในปีแรกเราไม่ได้คาดหวังตัวเลขรายได้และการเติบโต เพราะยังเป็นช่วงของการทดลองตลาด ศึกษา วางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมจากการประเมินตลาดตามความเป็นจริง โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งราคาขายว่าระดับราคาไหนจะเหมาะสมกับตลาดไทย เราอยากให้คนไทยเข้าถึงในราคาเดียวกับฮ่องกงแต่ก็ต้องยอมรับว่ามีตัวแปรในเรื่องของภาษีต่างๆ

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,907 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566