สศช. เตือนตั้งงบเพิ่มเติมปี 2567 สุ่มเสี่ยง บี้เช็คกฎหมาย 3 มาตรา

26 พ.ค. 2567 | 07:17 น.

สศช. เตือนตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 ต้องเช็คกฎหมายสำคัญ ทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ รวม 3 มาตรา ชี้ฐานะการคลังสุ่มเสี่ยง

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายรัฐบาลนั้น

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 1113/3026 เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของสำนักงบประมาณ โดยระบุรายละเอียดดังนี้

สศช. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่จะถูกเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ยังไม่สิ้นสุดลง และแรงกดดันทางการคลังยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

สศช. จึงมีข้อสังเกตว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมภายใต้แนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอนั้น ควรให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับนัยของมาตรา 21 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

นอกจากนั้นการเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภายังต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามนัยของมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

ดังนั้น สำนักงบประมาณ จึงควรชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป รวมทั้งระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีให้มีความชัดเจน โดยพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน ผลประโยชน์ และผลกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังอย่างครบถ้วนด้วย

 

ภาพประกอบข่าว การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อสังเกตของ สศช. เกี่ยวกับ มาตรา 21 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 นั้น พบรายละเอียดว่า

มาตรา 7 กำหนดว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

มาตรา 21 กำหนดว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจําเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย

ส่วนการเสนองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมต่อรัฐสภา สศช. แนะนะว่า ต้องดำเนินการให้เป็นไป ตามนัยของมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มีความหมายดังนี้

มาตรา 23 กำหนดว่า การจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงประมาณการรายรับ และฐานะทางการคลังของประเทศ ความจําเป็นในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายใน และภายนอกประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายรัฐบาล และภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

 

ภาพประกอบข่าว รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต

 

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากทำเนียบ ระบุว่า ในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เบื้องต้นได้กำหนดกรอบวงเงินไว้จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาทนั้นมีวงเงินไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถปรับลดงบประมาณรายจ่ายหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย

ดั้งนั้นรัฐบาลจึงเลือกตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรืองบกลางปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณนี้จะตั้งไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อไป