เร่งสรุปงบกลางปี 67 โปะเงินดิจิทัล1.2แสนล้าน

25 พ.ค. 2567 | 06:56 น.

คลัง-สำนักงบประมาณ เร่งสรุปตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 67 ปรับแผนการคลังระยะปานกลาง ชงคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง 28 พ.ค.นี้ ก่อนเสนอครม.อนุมัติ 4 มิ.ย. เล็งใช้แหล่งเงินจากกู้ชดเชยขาดดุล “แจกเงินดิจิทัล”

KEY

POINTS

  • กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงบประมาณเร่งหาข้อสรุปงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง 28 พ.ค.นี้
  • การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ต้องปรับแผนการคลังระยะปานกลาง เพราะแหล่งเงินที่นำมาใช้จะนำมาจากการกู้เงินชดเชยการขาดดุล 
  • จากนั้น 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ร่วมกันทบทวนประมาณการรายได้ กำหนดนโยบายกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 เพื่อเสนอครม.อนุมัติ 4 มิ.ย.67

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 67  ที่ขยายตัว 1.5% แม้จะสูงกว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์และทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจอกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แต่ยังเป็นการการเติบโตที่ต่ำสุดในอาเซียน และยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ลงเหลือ 2.0-3.0% โดยมีค่ากลางที่ 2.5% จากเดิมก่อนหน้านี้ประมาณการณ์ไว้ 2.7% ทำให้รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้น

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่ากระทรวงการคลัง จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 หรือ งบกลางปี จำนวน 1.22 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาบริหารจัดการเงิน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ร่วมกับสำนักงบประมาณ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการให้จัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของแหล่งเงินนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยจะเร่งหาข้อสรุป เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 28 พฤษภาคมนี้

แหล่งที่มาของเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้น จะต้องมีการปรับแผนการคลังระยะปานกลาง เนื่องจากแหล่งเงินที่นำมาใช้จะนำมาจากการกู้เงินชดเชยการขาดดุล ซึ่งขณะนี้ ยังไม่ได้สรุปว่า จะมีการขยายกรอบเพดานการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ตามกฎหมายแล้วจะต้องไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันกรอบวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลอยู่ที่ 6.93 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับความเห็นชอบการปรับแผนการคลังระยะปานกลางแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้น 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ จะร่วมกันทบทวนประมาณการรายได้ กำหนดนโยบายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 เพื่อเสนอครม.อนุมัติ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2567

สาเหตุที่รัฐบาลเลือกใช้วิธีการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 แทนการเกลี่ยงบประมาณปี 2567 นั้น เนื่องจากหลังจากที่งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ผลการเบิกจ่ายเป็นไปได้ด้วยดี ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วย โดยข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 67 มีการเบิกจ่ายแล้วรวม 2.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 1.79 ล้านล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 2.09 แสนล้านบาท, รายจ่ายลงทุนไม่รวมงบกลาง 2.09 ล้านบาท และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 1 แสนล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมว่า  เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด หลังจากที่คลังได้นำเสนอครม.ว่า การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณค่อนข้างมีข้อจำกัด เนื่องจากการเบิกจ่าย ขณะนี้เป็นไปได้ดีหลังจากพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ปีผลบังคับใช้ โดยกรมบัญชีกลางได้เร่งการเบิกจ่ายตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยหากใช้วิธีดังกล่าวจะกระทบการผลิต และการลงทุนในภาคเอกชน ที่ผูกพันกับการใช้งบประมาณของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หลังจากการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ผ่านความเห็นชอบในหลักการของครม.แล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง และสุดท้ายจะนำกลับมาเสนอครม.อนุมัติภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ตามที่มีกระแสข่าว 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าว ที่ประชุมครม.เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ, พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ, และตามกฎหมายพ.ร.บ.งบประมาณ

 “การเลือกใช้พ.ร.บ.โอนเงินประมาณ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ เนื่องจากจะต้องรอให้งบประมาณปี 67 สิ้นสุด 30 กันยายน 67 หลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการออกร่างกฎหมาย และดำเนินเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนการใช้วิธีการงบประมาณเพิ่มเติม ต้องผ่านขั้นตอนการออกกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่หากผ่านการอนุมัติของครม.แล้ว จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนสภาฯ ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 67 คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 67” นายจุลพันธ์ กล่าว

 สำหรับการทำงบประมาณเพิ่มเติม พิจารณาภายใต้ 1. แหล่งรายได้ใหม่ และ 2. การกู้เงินชดเชยขาดดุล โดยต้องดูภายใต้เพดานกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินเราทำอยู่ภายใช้กรอบกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งรายได้ใหม่ไม่ได้ถูกบรรจุในงบประมาณที่ผ่านไปแล้ว ส่วนเป็นรายได้มาจากที่ใดยังไม่สามารถระบุได้ ส่วนหากรายได้ใหม่เข้ามาไม่เพียงพอต่อวงเงินที่ต้องการใช้ สามารถใช้ทั้ง 2 วิธีการดังกล่าวเพื่อจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมได้

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจากตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาสะท้อนภาพเปลี่ยนไปมากจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะจุดอ่อนด้านการบริโภคเอกชนปีนี้ชะลอลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ความหวังจากภาคท่องเที่ยว แม้ผ่านช่วงสงกรานต์แต่การใช้จ่ายก็ไม่ได้สูง  

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน

ส่วนการส่งออกนั้นดูเหมือนจะฟื้น แต่เร็วไปที่จะบอกว่าเป็น “ของจริง” เพราะสินค้าส่งออกยังไม่ปรับลักษณะสินค้าเดิมๆเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค อีกทั้งทางการจีนปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกย่อมส่งผลกระทบอาเซียนและไทย  ซึ่งระยะสั้นส่งออกยังพอไปได้แต่ระยะยาวยังน่าห่วง 


สำหรับการลงทุนภาครัฐนั้น ยังเบิกจ่ายออกมาน้อยมาก เพราะเน้นเรื่องดิจิทัล วอลเล็ตเป็นหลัก แต่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ไม่ได้โฟกัสโครงการลงทุนหลักๆของเดิม ทำให้เม็ดเงินไม่ออกมา หรือออกมาน้อยไม่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอดูไตรมาสที่ 3- 4 ซึ่งก็ไม่มีผลในปีนี้ 

“เรื่องจีดีพีนั้น ยังมีจุดอ่อนในการเก็บข้อมูลอย่างมาก เป็นการมองโลกสวยไป แตกต่างจากสมการที่เคยมองสมัยก่อน ทำให้ผิดเพี้ยน ปัจจัยการบริโภคเอกชนก็ช๊อต ที่เปรียบเทียบได้ง่ายสุดคือ สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นแค่ 2%กว่าๆไม่ถึง 3% แต่ไปคาดการณ์จีดีพีจะเติบโต 4% ซึ่งเป็นความคาดหวัง ยกเว้นจะมีเงินไหลเข้าจากต่างชาติหรือเกิดการพิมพ์เงินในระบบ ดังนั้นแนวโน้มคาดการณ์จีดีพีมีโอกาสจะปรับลดลง ”ดร.จิติพลกล่าว 

ส่วนดิจิทัล วอลเล็ต แจกเงินประคองเศรษฐกิจระยะสั้นได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่จะได้จริง  เพราะตอนนี้เลิกพูด 5 แสนล้านบาทไปได้เลย โดนตัดไปหมด เหลือไม่ถึงเพราะจำนวนคนที่จะได้ สมมติจีดีพีของประเทศไทย 18 ล้านล้านบาท ต้องแจกอย่างน้อย 0.1%ของจีดีพีหรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีคนได้รับ 18 ล้านคนจากเดิมกำหนดไว้ที่ 50ล้านคน จึงได้ 1%ของจีดีพี ตอนนี้ประมาณการจีดีพีอยู่ที่ 2.5% ถ้ารัฐบาลอยากเห็นจีดีพีเติบโต 5% จะต้องแจกประมาณ 3%ของจีดีพีหรือประมาณ 5.4 แสนล้านบาท

ดิจิทัล วอลเล็ตนั้น มีผลเศรษฐกิจสองมุม คือ ถ้านำเงินไปใช้หนี้ ก็ไม่เพิ่มจีดีพี แต่มีผลระยะยาว หรือนำเงินไปใช้จ่าย หนี้ไม่ลด ก็เป็นผลระยะสั้น ส่วนผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพื่อกึ่งการลงทุน  สมมติ ซื้ออิเลคทรอนิกส์/มือถือ เพื่อทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ แต่หลักเกณฑ์กำหนดจับจ่ายสินค้าธรรมดา  เพราะจำกัดสินค้าประจำที่จะซื้อได้(เป็นสินค้าเพื่อตุน)ระยะสั้นแน่นอน เพราะฉะนั้นช่วยลำบาก 

“เรื่องการเพิ่มรายได้ รัฐบาลไม่ได้ไม่ได้โฟกัสจริง ทำให้ฟื้นเศรษฐกิจยาก, เรื่องการแก้หนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะไม่อยู่ในวาระของรัฐบาล  แต่เป็นวาระของแบงก์ชาติ เพราะฉะนั้นมันจะไม่เกิด สำหรับสิ่งที่โฟกัสคือ ดิจิทัล วอลเล็ตนั้น จะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มาก ดังนั้น ถ้าอยากได้การเติบโตของจีดีพี 5% ต้องโฟกันเรื่องลงทุนภาครัฐ และการลดภาษี”ดร.จิติพลกล่าว 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,995 วันที่ 26 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567