พุ่งเว่อร์ 4 เท่าตัว เอเชียผนึกกำลังกระทุ้งอเมริกา-ยุโรปลด "ค่าระวางเรือ"

27 มิ.ย. 2564 | 03:58 น.

สมาพันธ์ผู้ส่งออกเอเชีย ผนึกกำลังกระทุ้งยุโรป-อเมริกา ปรับลดค่าระวางเรือ หลังแห่ปรับขึ้นเว่อร์ 4 เท่าตัวจากปีที่แล้ว ทำต้นทุนขนส่งพุ่ง โวยทำการค้าไม่เป็นธรรม

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในสัปดาห์ผ่านมาทางสมาพันธ์ผู้ส่งออกของเอเชีย ประกอบด้วยหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง มาเก๊า บังกลาเทศ รวมถึงไทย ได้หารือกันโดยมีสมาพันธ์ผู้ส่งออกของยุโรป และอเมริการ่วมสังเกตการณ์ผ่านระบบคอนเฟอเร้นซ์ออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องและกำหนดแนวทางในการลดปัญหาเรื่องของค่าระวางเรือที่สูงขึ้นมากในเวลานี้ และเพื่อหาแนวทางไม่ให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

โดยผู้ส่งออกของเอเชียต้องการให้มีการกำหนดค่าระวางเรือ หรือค่าเฟรทให้มีความเป็นธรรม ซึ่งทางกลุ่มยุโรปและอเมริกาได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการแข่งขันทางการค้าทั้งในยุโรปและอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะค่าระวางเรือตอนนี้ถือเป็นปัญหาระดับโลก ขณะที่ตัวแทนสายเดินเรือในไทยเป็นเพียงออฟฟิศ หรือสำนักงานเท่านั้น แต่สำนักงานใหญ่(เฮดควอเตอร์) อยู่ในต่างประเทศทั้งนั้น เช่น ในยุโรป และอเมริกา ซึ่งอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่บริษัทแม่ในต่างประเทศทั้งหมด

พุ่งเว่อร์ 4 เท่าตัว เอเชียผนึกกำลังกระทุ้งอเมริกา-ยุโรปลด \"ค่าระวางเรือ\"

“ในยุโรปและอเมริกา มีกฎหมายและบทลงโทษการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ซึ่งจะต้องเรียกร้องไปทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในต่างประเทศ เพื่อให้ดูแลให้เป็นธรรมและเหมาะสม เพราะปัจจุบันค่าระวางปรับขึ้นสูงมาก โดยปรับขึ้นจากปีที่แล้ว 4-5 เท่าตัว ถือว่าเยอะเกินไป ขอให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม”

ทั้งนี้ยกตัวอย่างสายเดินเรือที่ไปไกล ๆ เช่น ไปสหรัฐหรือยุโรป ค่าระวางเรือ ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 1.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ขนาด 40 ฟุต( 3.72 แสนบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) จากปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ(9.3 หมื่นบาท)ต่อตู้ โดยสายเดินเรืออ้างเหตุว่าขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และช่วงนี้ความต้องการตู้สูง ค่าใช้จ่ายเขาก็สูง ในแง่การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์สายเดินเรือต้องจ่ายค่าตู้ที่ไปตกค้างตามท่าเรือหรือตามสถานที่ต่าง ๆ  ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงค่าน้ำมันสูงขึ้นเพียง 30% ค่าหมุนเวียนตู้ถ้าเรายอมจ่ายเท่าหนึ่ง การปรับขึ้นน่าจะอยู่ที่ 2 เท่าตัวก็พอ แต่ขึ้นมา 4-5 เท่า เทียบแล้วสามารถขนส่งสินค้าไปกลับได้ 2-3 เที่ยว ซึ่งมันไม่ใช่ จึงมองว่าเป็นการขึ้นราคาที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ภาระค่าระวางเรือซึ่งมีทั้งให้ลูกค้าเป็นผู้รับภาระ ลูกค้าก็ต้องเจรจากับผู้ผลิตไทยช่วยรับภาระ หรือผู้ส่งออกไทยบางรายเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ทั้งหมดก็จะแบกรับภาระที่สูง

พุ่งเว่อร์ 4 เท่าตัว เอเชียผนึกกำลังกระทุ้งอเมริกา-ยุโรปลด \"ค่าระวางเรือ\"

ขณะที่ภายในประเทศ ทางสรท.และภาคเอกชนโดยภาพรวมมองว่า ภาครัฐควรเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและทั่วถึงภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เพราะหากรอให้ถึงไตรมาสที่ 4 อาจจะช้าไป เหตุผลจากช่วงไตรมาสที่ 3-4 เป็นช่วงทำเงินของผู้ส่งออก ในช่วงปลายปีถึงสิ้นปี โดยปกติจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก หากมีผู้ติดเชื้อโควิดและยังเอาไม่อยู่ จะส่งผลต่อการใช้กำลังการผลิตและการส่งมอบสินค้าได้ ขณะที่ช่วงปลายปีทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรปตลาดจะเปิดรับโดยมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สรท.ได้ประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหาทางการนำเข้าตู้เปล่าในการบรรจุสินค้าให้เข้ามามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยไม่ให้สะดุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โควิดคลัสเตอร์โรงงาน ยังไม่ห่วงเท่าขาดตู้คอนเทนเนอร์

ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน

‘พาณิชย์’ แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน หนุนส่งออก 3.5 หมื่นล้าน

72 โรงงานอาหารทะเล ผ่านรับรองปลอดโควิด พร้อมลุยส่งออกทั่วโลก

สินค้าอาหาร-WFH- ป้องกันโรค ยังเป็นดาวรุ่งส่งออกปีนี้