ระดม 4 รัฐวิสาหกิจอุ้มการบินไทย สภาพคล่องเหลือไม่ถึงสิ้นปี เร่งหา 5 หมื่นล้านต่อลมหายใจ

16 มิ.ย. 2564 | 03:40 น.

ศาลล้มละลายกลางไฟเขียวแผนฟื้นฟูการบินไทย ผู้บริหารแผนและกรรมการเจ้าหนี้เร่งประชุมด่วน แนวทางหาแหล่งเงิน 5 หมื่นล้าน ระดม 4 รัฐวิสาหกิจ ทั้ง ปตท.และสถาบันการเงิน เสริมสภาพคล่อง “ชาญศิลป์” เผยต้องเร่งหากระแสเงินสด เพราะเหลือไม่ถึงสิ้นปีนี้ ยันพร้อมกลับมาบินได้ 85% ในปี 2568

วันที่15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลาง ได้มี คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแผนที่แก้ไข ตามมติของ ที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผลให้ ผู้บริหารแผน ที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข ประกอบด้วย 1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย 2. นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง 3. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการธนาคารกรุงเทพ 4. นายไกรสร บารมีอวยชัย อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ 5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) มีอำนาจเต็มในการบริหารแผนฟื้นฟูทันที

ทั้งนี้ได้เริ่มประชุมร่วมผู้บริหารแผน ร่วมกับกรรมการเจ้าหนี้ได้แก่ มีคณะกรรมการเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กระทรวงการคลัง สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัดสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัด บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสินโดยไม่รอช้า เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยสามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วที่สุด 

ผู้บริหารแผนเครื่องร้อน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน  เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ทันทีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผน ทางผู้บริหารแผนและกรรมการเจ้าหนี้ได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในวันเดียวกัน ซึ่งได้กำหนดภาระกิจที่ จะต้องทำก่อนหรือหลังตาม Priority  เช่น ภายใน 2 เดือนหรือ 60 วัน ผู้บริหารแผนต้องสรุปแนวทางการลดทุนและเพิ่มทุน  

ขณะเดียวกันต้องพิจารณาในรายละเอียดการเดินหน้าธุรกิจเช่นการจัดเส้นทางการบิน รวมทั้งเรื่องพนักงาน ที่สำคัญเพื่อให้ธุรกิจของการบินไทยเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องตามแผนจัดหาเงินทุนใหม่จำนวน 50,000 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย

ทั้งนี้ แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ

  • 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ2.5452 บาท
  • ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

“เรื่องแหล่งเงินทุนใหม่จากภาครัฐตอนนี้เท่าที่ทราบจะมีตัวแทนมาร่วมกันลงเงิน เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน  เอ็กซิมแบงก์  และธนาคารกรุงไทย และต้องหารือเพื่อจะดูว่ามีเจ้าหนี้แบงก์เอกชนรายไหนจะร่วมลงทุนเข้ามาเท่าไรและลงทุนอย่างไร”

เร่งหากระแสเงินสด

นายชาญศิลป์  ตรีนุชกร รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขแล้ว ซึ่งความท้าทายของการบินไทยขณะนี้ คือ เรื่องการหากระแสเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง  ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเจ้าหนี้ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน และผู้สนใจที่จะเป็นแหล่งเงินใหม่เข้ามา  ส่วนรูปแบบนั้นอาจจะเป็นการปล่อยกู้ร่วม (ซินดิเคตโลน) หรือมาจากแหล่งเดียวก็ได้ แหล่งเงินใหม่จะมีทั้งลดทุน เพิ่มทุน เงินกู้  ภายใต้กรอบความต้องการเม็ดเงินประมาณ 50,000 ล้านบาทในช่วง 1-3ปีนี้ ซึ่งจะทยอยเข้ามาตามความต้องการใช้ 

ตามแผนของแหล่งเงินดังกล่าวจะมาจากภาครัฐและเอกชน ฝ่ายละครึ่งแต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งการบินไทยสามารถนำทรัพย์สินของการบินไทยเป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันกับธนาคาร เช่น สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี  โดยอยู่ระหว่างหารือ คาดว่าจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะกระแสเงินสดของการบินไทยเหลือยังไม่ถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการขายทรัพย์สินรอง เช่น เครื่องบิน  เครื่องยนต์ และสินทรัพย์อื่นที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์  

กลับมาบิน 85% ในปี 68 

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น 5ปี สามารถขยายได้ 2 ครั้ง ซึ่งการบินไทยมองถึงการเพิ่มรายได้โดยจะกลับมาบินเชิงพาณิชย์ในไตรมาสสามปีนี้ จะนำร่องด้วย ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ประมาณ 30-35% ไตรมาส 4ประมาณ 40%ขึ้นไป โดยสิ้นปี 2568 จะกลับมาบินได้ราว 85% ขณะเดียวกัน ยังคงเดินหน้าตามแผนลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่าย 15% การบินไทยจะอยู่ได้ 3-5ปี ภายหลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดค่าใช้จ่ายเรื่องคน และสวัสดิการไปแล้ว กว่า 50%

ระดม 4 รัฐวิสาหกิจอุ้มการบินไทย  สภาพคล่องเหลือไม่ถึงสิ้นปี เร่งหา 5 หมื่นล้านต่อลมหายใจ

นอกจากนี้ ยังมีแผนบริหารความเสี่ยงจากภาระหนี้ในอนาคตให้ปรับลดลงจากการยกเลิกเครื่องบิน ตามสัญญาเช่าดำเนินการและเช่าซื้อ จำนวน 16 ลำ ซึ่งตามแผนการบินไทยจะเหลือเครื่องบินรวม 60 ลำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปโดยเป็นเครื่องบินเช่า 54ลำ และเครื่องบินของการบินไทยเอง 6 ลำ และภายในปี 2568 ธุรกิจการบินจะกลับมาฟื้นโดยการบินไทยจะมีเครื่องบินประมาณ 80-90ลำ  คาดว่า EBITDA จะกลับมาอยู่ที่ประมาณ 20,000ล้านบาทในช่วง 2 ปีหลังก่อนออกจากแผนฟื้นฟู

ลดค่าใช้จ่าย5หมื่นล้าน

นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเพื่อให้การฟื้นฟูลุล่วง บริษัทได้ดำเนินการอะไรไปหลายๆอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลายๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น เช่น

  • ลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา
  • ลดขั้นตอนการบังคับบัญชา จากเดิม 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับ ซึ่งการปรับลดขนาดองค์กร วางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562 มีพนักงานประมาณ 29,000 คน ปัจจุบันมีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000-15,000 คน
  • การปรับลดขนาดฝูงบิน ปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ
  • ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน
  • การจัดกลุ่มนักบินจาก 5 กลุ่ม เหลือ 3 กลุ่ม เพื่อให้มีความเหมาะสมกับแบบของเครื่องบิน 

อีกทั้ง ปรับค่าเช่าเครื่องบินเป็นลักษณะยืดหยุ่นตามชั่วโมงการใช้งานจริง จะทำให้การบินไทยสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 50,000 ล้านบาท จนครบสัญญากว่า 50 สัญญา รวมทั้ง การจัดเที่ยวบินพิเศษรับคนไทยกลับบ้านและเที่ยวบินขนส่งสินค้า ระหว่างเดือนเมษายน- เดือนธันวาคม 2563 จำนวน 2,042 เที่ยวบิน และตั้งแต่เดือนมกราคม- เดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 2,105 เที่ยวบิน เป็นต้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,688 วันที่ 17 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง