“เกษตรกร” ร้องระงม ขาดทุน สวนทางราคาอาหารสัตว์พุ่ง

11 มิ.ย. 2564 | 07:40 น.

ผู้เลี้ยงไข่ไก่-ไก่เนื้อ-หมู ร้องระงม ขายขาดทุนยับ สวนทางราคาอาหารพุ่ง “ฉวีวรรณ” กระทุ้งรัฐ ช่วยด่วน ขณะ อุปนายกฯสุกร ตัดพ้อ “จุรินทร์” ห่วงแต่ผู้บริโภค

ฉวีวรรณ คำพา

 

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนสูงมาก เป็นไปได้อย่างไร ราคาน้ำมันพืชก็ปรับขึ้นมา สวนรราคาไก่ถูกมาก โรงเชือดให้ราคา 27 บาทต่อตัว สวนกระแสอาหารสัตว์มาก ส่วนวัตถุดิบราคาข้าวโพดก็มีแนวโน้มจะปรับราคาขึ้นไป 10 บาท/กิโลกรัมด้วยซ้ำไป ขณะนี้ราคา 9.90 บาท/กิโลกรัม ไม่แน่ใจได้ยินข่าวว่ามีการส่งออกข้าวโพดด้วย

 

“อยากให้กระทรวงพาณิชย์ ช่วยหันมาดูหน่อย เพราะสวนกระแสกันมาก เกษตรกรก็ไม่ไหวกันแล้ว ยิ่งสถาการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดด้วยแล้ว และมีโรงเชือด พนักงานไปติดโควิดอีก ก็ไม่ได้เชือดไก่ที่เลี้ยงไว้ ก็ต้องเป็นไปตามวันเวลาที่กำหนด ทำให้ภายในประเทศวิกฤติไม่ดี มานานแล้วเป็นปีแล้ว ยิ่งมาเจอแบบนี้ด้วยยิ่งหนักเลยทำให้สินค้าล้นตลาด หรือ “โอเวอร์ซัพพลาย”

 

มาโนช ชูทับทิม

 

เช่นเดียวกับนายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นในวงการอาหารสัตว์ที่ปรับราคาขึ้นเอาๆแบบเรียกว่าไม่หยุดหายใจพักบ้างเลย เป็นประวัติการณ์เลยก็ว่าได้ ถามใครๆก็บอกช่วงปลายฤดูข้าวโพด ส่วน”กากถั่วเหลือง” อยู่ที่การนำเข้าเป็นหลักโน่นโทษตลาดโลกค่าเรือแพง แต่คำตอบที่สังคมอยากรู้คือมีการผสมโรงการขึ้นราคามากเกินกว่าที่ควรเป็นหรือไม่อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งคือถือโอกาสฉวยโอกาสในช่วงวิกฤติ นี้

 

“ราชการต้องตรวจสอบเพื่อความชัดเจนดังกล่าว พวกเราชาวหมูไก่ไข่บ่นกันอึงหมี่สำหรับต้นทุนด้านนี้ที่ขึ้นไม่ยอมหยุด ก็ขอให้พวกเราติดตามข้อมูลต่างๆจากคู่ค้า สมาคมฯ จากราชการ เพื่อเป็นฐานในการตัดสินในการเลี้ยงทั้งวันนี้และอนาคตต่อไป เหตุเพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลัก70%”

 

นายมาโนช กล่าวว่า ถ้าต้นทุนปรับขึ้นแต่ตลาดไม่ยอมรับราคาไข่ที่ปรับขึ้นสะท้อนต้นทุน อะไรจะเกิดขึ้นอย่าทำเป็นเล่นไป ฉะนั้นราคาไข่ตลาดไปได้ต้องปรับไป ณ วันนี้ผมว่าทุกฝ่ายยอมรับข้อเท็จจริงว่าอะไรเกิดขึ้นในอาชีพพวกเราอยู่แล้ว


 

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย

 

ขณะที่ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  กล่าวว่า ราคาอาหารสัตว์ ปรับขึ้นมาก เทียบกับต้นทุนที่เกษตรกรขายหมูแพงลิ่วเลย ปัจจุบันขายต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งอยู่ในสภาวะขาดทุนในภาพรวม ทางหน่วยงานก็ทราบปัญหาดีอยู่แล้ว สมาคมก็ทำ แต่ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย ยิ่งในตอนนี้รัฐบาลก็ชุลมุนวุ่นวายหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่กังวลมากกว่าก็คือ กลัวว่าราคาหมูจะแพงเพิ่มขึ้น เพราะคนเลี้ยงเลิกไปเป็นจำนวนมาก

 

“ราคาสุกรขุน ประกาศ 72 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุน 76 บาท/กิโลกรัม ที่ผ่านมาเกิดโรคระบาดเข้ามา มีหลายฟาร์มทยอยปิด เลิกเลี้ยง ทางเจ้ากระทรวงโทรมาที่สมาคมโดยตรงเลย ถามโน้นนี่นั่น เพราะ กลัวว่าราคาหมูจะแพงเพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะห่วงเกษตรกร นี่แหละถึงเป็นที่มา ของคำว่า “ไร้ความหวัง”

 

คึกฤทธิ์ อารีปกรณ์

 

ปิดท้ายนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาไก่เนื้อในช่วงนี้ตกต่ำมาก จากสถานการณ์โรงแปรรูป มีพนักงานติดเชื้อโควิด ทำให้ 4-5 โรงงาน ต้องหยุดการผลิตไปประมาณ 14 วัน และประกอบกับลูกค้าต่างประเทศเลื่อนออร์เดอร์ส่งมอบกันเพียบ เพราะกลัวสินค้าจะปนเปื้อนเชื้อโควิด

 

ช่วงนี้เกษตรกร ถึงเวลาที่จะเข้าโรงเชือด ก็เข้าไม่ได้ ก็ต้องเลี้ยงต่อ ยิ่งทำให้เพิ่มต้นทุน หรือไปเข้าโรงงานเชือดที่กำลังการผลิตไม่มาก ก็ถูกกดราคาขาย วันนี้ราคาไก่ อยู่ที่ 25-26 บาท/ตัว จากราคาที่เคยขายได้ 33-35 บาทต่อตัว ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ก็แพงขึ้น ก็ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง