พักทรัพย์พักหนี้กร่อย โรงแรมผวาซื้อคืนไม่ไหว เดินหน้าตั้งกองทรัสต์

05 มิ.ย. 2564 | 07:30 น.

โรงแรมอ่วมรอดได้ต้องสายป่านยาว จี้รัฐช่วยแบบเฉพาะเจาะจงฟื้นธุรกิจ 1-2 ปีนี้รับเปิดประเทศ ชี้ส่วนใหญ่ไม่อยากกู้หนี้เพิ่ม ขณะที่มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้  ส่วนใหญ่กังวลจะซื้อทรัพย์คืนไม่ได้ เพราะยังไม่รู้อนาคตธุรกิจ ทำให้เข้าร่วมน้อย

หลังจากรัฐบาลออก มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ) วงเงิน 2.5แสนล้านบาท และ โครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 1แสนล้านบาท แต่ในขณะนี้พบว่า ธุรกิจโรงแรม ส่วนใหญ่ไม่ต้องการสินเชื่อเพิ่มเนื่องจากไม่อยากเป็นหนี้ ขณะที่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ก็ยังมีข้อคาใจทำให้มีการเข้าร่วมน้อย ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ก็ได้นำเสนอ โครงการ REIT buy-back ที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับโรงแรมที่ไม่มีภาระหนี้แต่ขาดสภาพคล่องวิกฤติโควิด-19 ในการจัดตั้ง กองทรัสต์เพื่ออุ้มธุรกิจ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมล่าสุดจากผลสำรวจในเดือนพ.ค.นี้พบว่าแย่ลงกว่าเดือนเม.ย.ในทุกด้าน โดยพบว่ามีโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มจาก 13% เป็น 20% มีโรงแรมเปิดให้บริการจาก 46% ลดลงเหลือ 36% ส่วนโรงแรมที่เปิด-ปิดบริการบางส่วน จาก 41% ก็เพิ่มเป็น 44% อันเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ระลอก 3

จากสถานการณ์ในขณะนี้ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะเป็นหนี้เพิ่ม จึงไม่ได้เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพราะที่ผ่านมาโรงแรมมีการเข้าถึงมาตรการสินเชื่อของรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงแรกแล้ว และมีการใช้เพื่อประคองสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยผลกระทบที่ยืดเยื้อมาร่วม 1 ปีกว่าแล้ว ทำให้ธุรกิจโรงแรมเดือนร้อนมาก และอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจนี้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะเรื่องของภาษีต่างๆ และการช่วยสนับสนุนการจ่ายค่าจ้างพนักงานหรือโค-เพย์เม้นท์ เพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน และช่วยให้โรงแรมฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีเพื่อรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล

“ธุรกิจโรงแรมที่จะอยู่ได้จากนี้ต้องขึ้นอยู่กับสายป่านที่มี และการเร่งรัดการฉีดวีคซีนของรัฐบาลที่จะฟื้นการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง การกู้เงินที่ต้องเป็นหนี้เพิ่ม หลายโรงแรมก็ไม่ไหว ส่วนโรงแรมที่มีภาระหนี้อยู่กับทางสถาบันต่างๆ ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ได้ ก็ยังมีโรงแรมเข้าร่วมน้อย เพราะยังมีคำถามในมาตรการนี้อยู่”

จากการสำรวจล่าสุดของสมาคมฯต่อความสนใจเข้าร่วม มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) พบว่ามีโรงแรมที่เป็นสมาชิกทีเอชเอ สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ 90 แห่ง แต่เข้าเงื่อนไขของมาตรการนี้ 62 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้และเป็นโรงแรมที่เปิดกิจการเพียงบางส่วน

โดยในโรงแรม 62 แห่ง นี้ พบว่า

  • กำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจ 34 แห่ง
  • อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงาน 22 แห่ง
  • ได้รับอนุมัติแล้ว 4 แห่ง
  • และถูกปฏิเสธ 2 แห่ง

ขณะเดียวกัน มีโรงแรมที่ไม่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้จำนวน 144 แห่ง ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วม หรือไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข หรือยังไม่เข้าใจในรายละเอียดของมาตรการ

ทั้งนี้ การที่หลายโรงแรมยังไม่สนใจหรือลังเลที่จะเข้าร่วมมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นเพราะเจ้าของโรงแรมหลายคนยังมีคำถามอยู่ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1.ความชัดเจนว่าจะได้สินเชื่อเพื่อซื้อทรัพย์คืน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าจะซื้อทรัพย์คืนไม่ได้ เพราะยังไม่รู้อนาคตของธุรกิจ และจะได้รับสินเชื่อจากธนาคารเจ้าหนี้ หรือจากธนาคารอื่นได้หรือไม่

2.ความไม่เข้าใจวิธีการและความชัดเจนของเงื่อนไขจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะบางสาขาของธนาคารในต่างจังหวัด

3.ราคารับตีโอนต่ำ ทำให้ปิดภาระหนี้ไม่ได้ อาทิ บางโรงแรมหนี้น้อย แต่มูลค่าทรัพย์สินมาก ก็ต้องตีโอนทรัพย์ไปเลย ซึ่งโรงแรมอาจไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ และจะเอาหลักทรัพย์ที่ไหนไปขอสินเชื่อ เพื่อซื้อคืนทรัพย์ จึงมีการเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกระหว่างที่ดิน กับอาคาร ไม่ต้องโอนพร้อมกัน

4.ค่าเช่าสูงเกินไป ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ ซึ่งค่าเช่าก็จะไม่เท่ากันขึ้นกับการเจรจาระหว่างโรงแรมและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน โดย
จากประเด็นคำถามเหล่านี้ทางหอการค้าไทย จะเข้ามาช่วยประสานงานกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อหาคำตอบในเรื่องเหล่านี้

นางมาริสา ยังกล่าวว่า ล่าสุดสมาคมยังได้รับการติดต่อจากก.ล.ต.ในการนำเสนอ โครงการ REIT buy-back (ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ที่จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับโรงแรมที่ไม่มีภาระหนี้ นำโรงแรมโอนหรือขายผ่านกองทุน REIT เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องและเช่าดำเนินธุรกิจได้ต่อ และเจ้าของโรงแรมสามารถซื้อทรัพย์คืนได้ ใน 3-5 ปี ซึ่งทางสมาคมก็จะประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกได้รับทราบต่อไป เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจ

นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้นำโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ เข้าร่วมโครงการ REIT buy-back เพราะเห็นว่าเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการคิดเรื่องการออกกองรีทมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าโครงการนี้ให้สิทธิ์ซื้อกลับคืนได้ ซึ่งตั้งใจซื้อคืนภายใน 5 ปี ขณะนี้รอทางก.ล.ต.อนุมัติ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ รอยัล ออคิด ฮอสพิทาลิตี้ (GROREIT) โดยการระดมทุนนี้จะทำให้มีเงินเข้ามา 4,500 ล้านบาทเข้ามาเป็นสภาพคล่องในช่วงโควิดนี้ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบมาก

ส่วนจะมีการนำโรงแรมอื่นเข้าโครงการ REIT buy-back อีกหรือไม่ ขอพิจารณาในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากต้องการพิจารณาเรื่องของการระดมฉีดวัคซีนในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เพราะวัคซีนเป็นทางออกที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: