​ไทย-อียูลงนามจัดสรร โควตาภาษีหลัง Brexit

10 พ.ค. 2564 | 10:28 น.

ไทย-อียูลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) หลังจาก Brexit แล้ว ยันไทยยังคงได้สิทธิ์โควตาสินค้าเกษตร ประมง และสัตว์ปีก ครบถ้วน ไม่น้อยไปจากเดิม คาดมีผลบังคับใช้ มิ.ย.นี้  

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เป็นผลการเจรจารองรับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมีนาย José Fernando Costa Pereira เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรโปรตุเกสประจำคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคง สำนักงานประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นผู้แทน และมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
​ไทย-อียูลงนามจัดสรร  โควตาภาษีหลัง Brexit

โดยผลจากการลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) กับอียู เป็นการสรุปการแบ่งโควตาภาษีสินค้าเกษตรและประมงของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษ โดยไทยจะได้โควตาเท่าเดิมในภาพรวม แต่ผู้ส่งออกจะต้องเช็กว่าโควตาไปอียูเป็นจำนวนเท่าไร ไปอังกฤษเป็นจำนวนเท่าไร เช่น โควตาไก่บางรายการอาจแบ่งไปให้อังกฤษมากกว่าอียู ส่วนโควตาข้าวบางรายการ อาจจะอยู่ที่อียูมากกว่าอังกฤษ เป็นต้น ส่วนอัตราภาษีจะยังเป็นอัตราเดิม ซึ่งเมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับแล้วจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยหลายรายการที่สำคัญไปทั้งสองประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น
 

สินค้าในรายการที่ลงนาม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าข้าว สัตว์ปีก และสินค้าประมง โดยไทยยังคงรักษาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก่อนที่จะมี Brexit ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณโควตาเดิมที่สหภาพยุโรปจัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ (Country Specific Quota) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (เป็ดและไก่) และปลา ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ปริมาณโควตานี้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ส่วนรายการอื่นๆ จะมีที่เป็นโควตารวมให้ทุกประเทศ (global quota) ซึ่งไทยต้องไปยื่นขอโควตาแข่งกับประเทศอื่นต่อไป”นางพิมพ์ชนกกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจากับอียูและอังกฤษในกรอบของ WTO นั้น เป็นการเจรจาเฉพาะการแบ่งปริมาณอย่างเดียว ไม่รวมการลดภาษี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และไทย-อังกฤษ โดยเร็ว ซึ่งคงจะมีการเจรจาทั้งขอเพิ่มโควตาและลดภาษีสินค้าเกษตรและประมงต่อไป เพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ให้มากที่สุด
          ​ไทย-อียูลงนามจัดสรร  โควตาภาษีหลัง Brexit


ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษีภายใต้ WTO รวมถึงตารางปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (โดยไม่รวมอังกฤษ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและประมง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจากับทั้งสองประเทศพร้อมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ให้สิทธิประโยชน์โดยรวมของผู้ส่งออกไทยไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับก่อนหน้าที่จะมีการถอนตัวของอังกฤษ กล่าวคือ ปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวมกับปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากอังกฤษ จะยังคงเท่ากับปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีเดิมที่ไทยเคยได้รับจากสหภาพยุโรป 28 ประเทศ
         

โดยการเจรจาทั้งสองส่วนบรรลุความสำเร็จเมื่อเดือนก.ย.2563 และไทยกับอังกฤษได้ลงนามย่อในหนังสือแลกเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 เพื่อให้ทันมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.2564 อันเป็นวันที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ส่วนผลการเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นเอกสารที่ลงนามในครั้งนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องไปดำเนินกระบวนการภายในก่อนที่จะมีหนังสือแจ้งไทยเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิ.ย.2564
      ​ไทย-อียูลงนามจัดสรร  โควตาภาษีหลัง Brexit     


ในช่วงปี 2560–2563 การค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ย 1,400,178 ล้านบาทต่อปี โดยไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรปเฉลี่ย 656,084 ล้านบาทต่อปี และส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเฉลี่ย 744,094 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการส่งออกสินค้าโควตาภาษีมูลค่าเฉลี่ย 50,453 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหภาพยุโรป เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และปลาปรุงแต่ง เป็นต้น