แข่งสร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติ ดันเกษตรแม่นยำ ต่อยอดเชิงพาณิชย์

08 มี.ค. 2564 | 06:10 น.

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาความท้าทายหลากหลายด้านทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต ด้านราคา ประสบปัญหาสภาพความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติ แรงงานเข้าสู่ผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบอัตโนมัติถูกนําเข้ามาใช้ทดแทน แรงงานคนมากขึ้น ฯลฯ

จากความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีการจัดการแข่งขัน “หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งถือมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถนําผลงานจากการแข่งขันนำมาใช้สร้างระบบการทำเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยําเป็นระบบเกษตรชั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า การแข่งขันฯเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับนิสิต-นักศึกษา และสถาบันการศึกษา ได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ และเป็นการท้าทายฝีมือของคนไทยในการประดิษฐ์และนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อลดผลกระทบจากสภาวะการขาดแคลนแรงงาน ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ ในการยกระดับมาตรฐานการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรของประเทศไทยและตลาดโลก 

อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา 

สำหรับโครงการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะเคยจัดในปี 2561 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์เก็บมะม่วงจากต้นและคัดแยกผลสุก-ดิบได้ มีจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 20 ทีม จำนวน 200 คน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำโครงการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2563  ภายใต้แผนงานปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน มีทีมสมัครเข้าแข่งขันจำนวน 50 ทีม จำนวน 500 คน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายเพื่อส่งต่อต้นแบบเทคโนโลยีนวัตกรรมจากทีมผู้เข้าแข่งขันไม่น้อยกว่า 10 โครงการวิจัยเข้าสู่การขอทุนจากแหล่งทุนวิจัยเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

โครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกรด้านวิทยาการหุ่ยนต์เพื่อการเกษตรกรรม

โครงการในเฟสที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 ได้เปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 คาดการแข่งขันจะสิ้นสุดประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 หรือถ้าต่อเวลาเพื่อผ่านสถานการณ์โควิดรอบใหม่ก็น่าจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป็นการแข่งหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ 11 ประเภท อาทิ หุ่นยนต์ตรวจวัดสารตกค้างหรือสาระสำคัญในพืชผักผลไม้, หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช, หุ่นยนต์อารักขาพืช, หุ่นยนต์ปลูกพืช, หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว, Phenotype robot, หุ่นยนต์ปรับระดับพื้นแปลงเกษตร,หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างดินและตรวจวิเคราะห์โครงสร้างดิน,หุ่นยนต์คัดแยกผลผลิตทางการเกษตร,หุ่นยนต์สีกะเทาะเปลือก และหุ่นยนต์กรีดยาง”

ขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการริเริ่มสำคัญ(Flagship Project)ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเข้าสู่เฟสที่ 2 จะมีการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจริยะ 17 ประเภท โดยขยายจากของเดิม(ที่มี 11 ประเภท)เพิ่มเข้ามาใหม่อีก 6 ประเภทที่ได้แก่ 12.หุ่นยนต์เพื่อการจัดการฟาร์มด้านปศุสัตว์ 13.หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านการประมง 14. หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านป่าไม้ 15. หุ่นยนต์สำหรับโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และวนผลิตภัณฑ์ 16. หุ่นยนต์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และ 17. หุ่นยนต์จัดการด้าน Warehouse คลังสินค้า

“คาดจะเปิดรับสมัครได้ประมาณ  1 ตุลาคม 2564 ได้จำนวนทีม 100 ทีมๆ ละ 10 คน รวม 1000 คน คาดว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยแต่ละทีมจะได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 1 แสนบาท ไม่นับรวมรางวัลหากชนะการแข่งขัน” 

      

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,659 วันที่ 7 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 

“เจียไต๋”จับมือ “สยามคูโบต้า” ลุยยกระดับนวัตกรรมเกษตรไทย

40 ปีสยามคูโบต้ารุกประกาศแผนธุรกิจตอกย้ำผู้นำ “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต”

"พาณิชย์-เกษตร”เดินหน้า   Big Data ภาคเกษตรขนาดใหญ่

4 รัฐมนตรีฯ ชู นโยบายแก้ปัญหาภาคเกษตร

ภาคเกษตรไทยต้องปฏิรูปอย่างไร ในยุคโรคใหม่ “ไล่ล่า”