ภาคเกษตรไทยต้องปฏิรูปอย่างไร ในยุคโรคใหม่ “ไล่ล่า”

06 ม.ค. 2564 | 12:04 น.

“พรศิลป์” เผย โลกเหมือนถูกสาป ซ้ำรอยอดีต เหตุระบบสาธารณสุขล้าหลัง ไล่ไม่ทันโรค ธุรกิจการเกษตร-อาหาร ต้องวิเคราะห์กันใหม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โลกเหมือนถูกสาบ เหมือนในช่วงปี ค.ศ 1347 (พ.ศ.1890) ถึง ค.ศ.1351 (พ.ศ.1894) เกิดโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เรียกว่า “Black Death” เป็นผลให้คนเสียชีวิตจำนวน 75 ถึง 200 ล้านคน โดยประมาณ (WIKI) โรคนี้ระบาดอยู่ประมาณ 4 ปี และหายไปเองเพราะคนกักตัวหรือย้ายถิ่น ฟังดูแล้วก็คล้ายกันกับ "Covid-19" ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้ คือทางแก้ที่ได้ผลคือการป้องกันโดยการกักตัวเอง 

 


เวลาล่วงเลยมาประมาณ 600 ปีกว่าแต่มนุษย์ก็ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคระบาดใหญ่ได้ วิเคราะห์ได้ว่าความสามารถของมนุษย์ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ดังนั้นจึงเสนอว่าให้พวกเรากลับไปเชื่อและทำในสิ่งที่บรรพบุรุษทำสำเร็จโดยวิธีธรรมชาติคือ “กักตัว” หรือ “รักษาระยะห่าง” เท่านั้น การเรียนรู้จากเหตุการณ์ Covid-19 คือ ระบบสาธารณสุขทั่วโลกยังล้าหลัง ไล่ไม่ทันโรค หรือ เรียกว่า "ล้มเหลว" ได้ แม้ว่าประเทศในแถบ Scandinavia เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ จะมีระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดหรือประเทศพัฒนาอื่นๆเช่นสหรัฐ ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถป้องกันคนของเขาได้ 

 


 

 

ด้วยข้อบกพร่องหรือความสามารถของระบบสาธารณสุขดังกล่าวผมจึงขอให้กลับไปเริ่มต้นจากแนวคิดว่าเราต้องหามาตรการป้องกันที่ได้ผลก่อน และพัฒนาระบบสาธารณสุขควบคู่กันไป ดังนั้นสิ่งที่จะนำเสนอให้เน้นเป็นอย่างยิ่งต่อไปนี้คือยุทธศาสตร์ในทุกสาขาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์และพืช การผลิตสินค้า บริการ และปัจจัยอื่นๆจึงต้องยึดหลักนี้เป็นแกน


สำหรับประเทศไทยนั้น "ธุรกิจการเกษตรและอาหาร" จะต้องวิเคราะห์กันใหม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร ข้อเสนอคือ ผลิตผลสู่ตลาดต้องตอบโจทย์มาตรฐานความปลอดภัย คำถามคือจะเชื่อมโยงผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่นี้ได้อย่างไร รัฐจะต้องมีบทบาทอย่างไร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะต้องมีบทบาทนำหรือเสริมอย่างไร คำตอบนั้นไม่น่าจะยาก แต่ยังไม่ได้ยินว่าใครจะสมัครใจออกมาตอบให้ชัดๆทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องรอวิกฤติก่อนหรือไม่อย่างไร?