“พาณิชย์”จัดคาราวานรถธงฟ้า ขายสินค้าอุปโภคบริโภค

23 มี.ค. 2563 | 08:38 น.

“พาณิชย์”ส่งรถโมบายธงฟ้า นำสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายประชาชนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล นำร่อง 400-500 คัน หวังลดความวิตกเรื่องการเดินทางซื้ออาหาร และลดการฉวยโอกาสขายสินค้าราคาแพงเกินจริง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือสถานการณ์รับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 และกำหนดแนวทางการรับมือสถานการณ์การแพร่ของโควิด-19 ในเรื่องการดูแลประชาชนทั่วประเทศ ก่อนนำแนวทางเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 14.00 น. วันนี้ (23 มีนาคม) ว่า เตรียมเสนอแนวทางดูแลดังนี้ 1. จัดทำรถเคลื่อนที่(โมบาย)ธงฟ้า ที่บรรจุสินค้าอุปโภคบริโภคออกไปจำหน่ายตามชุมชน ซอกซอย ทุกถนนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น5-6 จังหวัดก่อนขยายไปทั่วประเทศ โดยได้หารือผู้ผลิตสินค้าและค้าปลีก จัดเตรียมสินค้า ทำโมบายธงฟ้าแล้ว 400-500 คัน เริ่มปล่อยคาราวานรถโมบายธงฟ้าภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นการลดความวิตกเรื่องการเดินทางหาซื้ออาหาร และลดการฉวยโอกาสขายสินค้าราคาแพงเกินจริง รวมถึงได้เรียกหารือกับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และดิลิเวอร์รี่ รวมถึงสมาคมบรรทุกขนสินค้าต่าง ๆ  โดยเน้นให้การสนับสนุนเพื่อให้การบริการถึงประชาชนตามบ้านให้มากที่สุด ทั้งนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์รายวันเพื่อปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

  “พาณิชย์”จัดคาราวานรถธงฟ้า  ขายสินค้าอุปโภคบริโภค

2. ได้จัดตั้งคณะทำงานกำกับดูแลปริมาณและราคาจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานและผู้บริหารระดับสูงทุกกระทรวงในพาณิชย์เป็นกรรมการ เพื่อเตรียมหารือและเร่งรัดมาตรการต่าง ๆให้ทันสถานการณ์ ส่วนในระดับจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่เพื่อดูแล ป้องกันการฉวยโอกาสกักตุนสินค้าอุปโภค บริโภคในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรค

 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบงบประมาณจัดซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้โรงพยาบาล วงการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ พร้อมปรับวิธีการจัดสรร เน้นไปช่องทางกลุ่มเสี่ยงซื้อได้ง่ายขึ้น ยกเว้นการขายผ่านธงฟ้าทั่วไป โดยให้จัดเตรียมหน้ากากผ้ามาทดแทนมากขึ้น พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมรายงานมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆต่อไป 

“พาณิชย์”จัดคาราวานรถธงฟ้า  ขายสินค้าอุปโภคบริโภค

 นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังสั่งการให้ปรับการทำงานโดยการประชุมทางไกลแทน ลดกิจกรรมต่าง ๆโดยเตรียมประชุมทางไกลรับฟังข้อมูลทุกด้านกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 53 แห่ง โดยให้มีการรายงานสถานการณ์โควิด-19 และติดตามการสั่งการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งวัตถุดิบหน้ากากหรือ การเพิ่มตลาดส่งออก  รวมถึงการติดตามคนไทยในประเทศนั้นว่ามีการติดโควิด-19 หรือยัง แค่ไหน และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร   นอกจากนี้ในวันที่ 25 มี.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.พาณิชย์) เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกัน โดยเฉพาะสถานการณ์การส่งออก เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

 ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.)รักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กล่าวย้ำว่าประเทศไทยผลิตไข่ไก่ได้ปีละกว่า 15,000 ล้านฟองหรือประมาณวันละ 41  ล้านฟอง ไข่ไก่เกือบทั้งหมด  95% ใช้บริโภคภายในประเทศ วันละประมาณ 39 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่คงเหลือในระบบประมาณวันละ 1 – 2 ล้านฟอง ในภาวะปกติไทยส่งออกไข่ไก่ไปประเทศฮ่องกงเป็นหลัก  90% ของการส่งออกทั้งหมด สิงคโปร์  5% ที่เหลือส่งออกไปพม่าและลาว ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกไข่ไก่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการสมดุลของอุปทานในประเทศ เพื่อมิให้มีไข่ไก่ส่วนเกินล้นอยู่ภายในประเทศ  การส่งออกปัจจุบันพบว่า ตลาดฮ่องกงมีการสั่งซื้อลดลง เนื่องจากราคาไข่ไก่จีนถูกกว่าไข่ไทย ส่วนตลาดสิงคโปร์ที่หันมาซื้อ             ไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้นแทนการสั่งซื้อจากมาเลเซีย พบว่า เพิ่มขึ้นเพียงประมาณวันละ 6 แสนฟอง ส่วนที่มีข่าวออกมาระบุว่ามีผู้ประกอบการกักตุนไข่เพื่อส่งออกเก็งกำไรนั้นหากพบว่ามีพฤติกรรมการกักตุนไข่ไก่เพื่อรอส่งออกจริง ก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

  “พาณิชย์”จัดคาราวานรถธงฟ้า  ขายสินค้าอุปโภคบริโภค

“ปีที่ผ่านๆ มาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดจนภาครัฐต้องช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการชดเชยให้เกษตรกรละ 10-20 สต./ฟอง และผลักดันให้มีการส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ส่วนที่มีข่าวการกักตุนขอบอกว่าทำไปก็ไม่คุ้มเพราะไข่ไก่เก็บไว้ได้ไม่นานหากเก็บไว้รอส่งออกเก็งกำไรอาจเน่าเสียก่อน ส่วนที่กลัวว่าไข่ไก่จะขาดแคลนนั้นขอบอกว่าไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะไทยเป็นฐานการผลิตไข่ไก่มีปัญหาผลผลิตล้นแทบทุกปี และไม่ควรนำไปเทียบกับปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยเพราะไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตหน้ากากอนามัย” นายประโยชน์ กล่าว

“พาณิชย์”จัดคาราวานรถธงฟ้า  ขายสินค้าอุปโภคบริโภค