กฎถิ่นกำเนิดสินค้า “อาร์เซ็ป”ลงตัว 100%

10 ต.ค. 2562 | 05:10 น.

คต. แย้มข่าวดี "อาร์เซ็ป"สรุปผลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้ารอบสุดท้ายได้แล้ว 100%  ครอบคลุมสินค้า 5,205 รายการ ระบุต้องใช้วัตถุดิบในภูมิภาคไม่น้อยกว่า 40% 

นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) สมัยพิเศษและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 19-27 กันยายน 2562 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Sub-Working Group on Rules of Origin: SWGROO) โดยผลการประชุม SWGROO รอบสุดท้ายที่ประชุมสามารถสรุปกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (PSRs) ได้ 100% ของรายการสินค้า ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 5,205 รายการ

กฎถิ่นกำเนิดสินค้า “อาร์เซ็ป”ลงตัว 100%

                                                  ชุตินันท์ สิริยานนท์

 

นอกจากนี้ ยังมีการสรุประเบียบและวิธีปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ RCEP ได้เพิ่มเติมอีก 9 มาตรา ประกอบด้วย เอกสารรับรองถิ่นกำเนิด (Proof or Origin) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Declaration of Origin) ผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิในการรับรองตนเอง (Approved Exporter) การตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้า (Verification) เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ Back-to-Back คำนิยาม (Definition) การขนส่งตรง (Direct Consignment) และการทบทวนและการปรับปรุง (Review and Modification) ซึ่งรวมทั้งหมดเห็นชอบไปแล้ว 32 มาตรา จาก 35 มาตรา โดยมาตราที่ยังคงเหลืออาจนำขึ้นหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ RCEP (RCEP Ministerial Meeting) ซึ่งจะมีการหารือกันในเดือนตุลาคมนี้เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาในระดับผู้นำ RCEP (RCEP Summit) ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม

กฎถิ่นกำเนิดสินค้า “อาร์เซ็ป”ลงตัว 100%

 

นายชุตินันท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ส่งออก ผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทย จะเริ่มใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้เมื่อ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนจาก 10 ประเทศและ 4 ประเทศจาก 6 ประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลงนามและให้สัตยาบันร่วมกัน โดยผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทยสามารถผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบในภูมิภาค RCEP ซึ่งสินค้าจะผ่านเกณฑ์การผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าทั้งหมด หรือสามารถเลือกสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้ภายใต้ความตกลง RCEP หากเกณฑ์สินค้าดังกล่าวเป็นสัดส่วนการผลิตในภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) ไม่น้อยกว่า 40% นอกจากนี้ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทยยังสามารถทำการค้าในรูปแบบนายหน้า และซื้อมาขายไป ภายใต้รูปแบบ Third Party Invoicing: TPI) และ Back-to-Back โดยครอบคลุมถึง 16 ประเทศ