วิกฤติผู้นำประเทศ คืออุปสรรคในการสร้างชาติ

24 มิ.ย. 2564 | 05:45 น.

วิกฤติผู้นำประเทศ คืออุปสรรคในการสร้างชาติ : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3690 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.2564 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

     ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "NIDA Poll-นิด้าโพล" จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้ออกมาเผยผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ "การสำรวจความนิยมทางการเมือง" ที่มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 23-26 มีนาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 2,522 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก( Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย( Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0  

     และเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 นิด้าโพลก็ได้ทำการสำรวจในหัวข้อเดียวกันอีกครั้งโดยวิธีเช่นเดียวกัน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-16 มิถุนายน 2564 แต่ใช้หน่วยตัวอย่าง 2,515 หน่วย ในเรื่อง "การสำรวจความนิยมทางการเมือง รายไตรมาสครั้งที่ 2/2564”

     ผลสำรวจทั้งสองครั้งในระยะเวลาห่างไกลแค่ 3 เดือน บ่งบอกนัยสำคัญค่อนข้างจะตรงกับความคิดเห็นของประชาชนทั้งสองครั้ง ในประเด็นที่เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ในการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม พบว่าอันดับ  1 ร้อยละ 30.10 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 28.79 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

     แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน ในคำถามเดียวกัน กลับพบว่า ร้อยละ 37.65 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ขณะเดียวกันที่ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี มีเพียงร้อยละ 19.32 โดยมีคะแนนนิยมลดลงมาก แตกต่างจากครั้งแรกโดยมีนัยสำคัญ

     ส่วนที่ถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนนั้น ปรากฏว่าผลสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม อันดับ 1 ร้อยละ 29.82 ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย และล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ยิ่งกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 32.68 ที่ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย

     จากผลสำรวจดังกล่าว ที่นำเสนอโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือเช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าสังคมไทย กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติผู้นำประเทศ ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความไม่เชื่อมั่น และไม่ศรัทธาต่อผู้นำประเทศของตน ส่วนจะหันหน้าไปหวังผู้นำประเทศที่จะมาจากพรรคการเมือง โดยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุน ไม่ศรัทธาหรือเชื่อมั่นต่อผู้นำที่เป็นหัวพรรคการเมืองคนใดเลย  

     ผู้นำที่บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน แม้จะได้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเททำงานสักเพียงใด นำเสนอสารพัดโครงการเพื่อเอาใจประชาชนหรือเพื่อฝ่าฟันวิกฤติในทุกๆ ด้านในปัจจุบัน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนประชาชนที่ตอบคำถามในการสำรวจความคิดเห็น จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อถึงบุคคลอื่นๆ ที่ปรากฏรายชื่อความนิยมจากผลสำรวจว่า จะมีความเหมาะสมหรือจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหรือไม่ เพียงใด เพื่อการก้าวไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสถานการณ์ปัจจุบัน

     เมื่อความคิดเห็นและทัศนะคติของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ มีความคิดเห็นดังที่ปรากฏตามผลสำรวจดังกล่าว จึงน่าจะพออนุมานได้ว่า ถึงคราวที่ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในสภาวะ "วิกฤติผู้นำประเทศ" โดยเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับ "วิกฤติโควิด 19" และวิกฤติการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม ประเทศจะก้าวเดินไปอย่างไรภายใต้ภาวะการณ์เช่นนี้ หากสังคมไทยยังไร้สิ้นผู้นำที่ประชาชนมีความเคารพ เชื่อมั่นและศรัทธา นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งของชาติบ้านเมือง

     ในบรรดาประเทศทั้งหลายที่มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความสามัคคีเป็นปึกแผ่น ประเทศหลุดพ้นจากความยากจนและล้าหลัง ก้าวพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่พัฒนา เจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตและหน้าที่การงาน สังคมน่าอยู่ทุกชีวิตมีความปลอดภัย ประชาชนในประเทศต่างมีความสุข สุขภาพดีกันถ้วนหน้า และการเมืองก็มีคุณธรรม เพราะนักการเมืองประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญนั้น ปัจจัยสำคัญที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของทุกประเทศในโลกนี้ล้วนต้องมี "ผู้นำ" อันเป็นที่รัก เป็นที่เคารพศรัทธา และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนเท่านั้น ประเทศเหล่านั้น จึงจะสามารถรวมพลังคนในประเทศ สามัคคีสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้

     การที่ประเทศต้องอยู่ในภาวะวิกฤติ ไร้ผู้นำประเทศที่ประชาชนให้การยอมรับสนับสนุนในการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือมองไม่เห็นหนทางว่าจะมีผู้นำที่ดีและมีความสามารถมาจากที่ใด มาปกครองและบริหารบ้านเมืองได้อย่างไร และไม่รู้ว่าผู้นำประเทศจะมาจากช่องทางไหนนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า โดยระบบและโครงสร้างทางการเมือง และการปกครองประเทศของเรา ยังไม่อาจสร้างผู้นำที่ดีให้กับบ้านเมืองได้  

     ระบบการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของเรา ยังไม่สามารถสรรหาและเปิดทางให้มีคนดี คนเก่ง เกิดขึ้นในระบบได้ เพราะระบบการเมืองของไทย ทุกคนต่างสนใจและแข่งขันกันสร้างพรรคการเมือง เพื่อการแข่งขันในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีใครหรือพรรคใดสนใจ "สร้างคน สร้างผู้นำที่ดี และสร้างผู้รับใช้ประชาชน" แต่อย่างใด เหมือนดั่งเช่น ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายในภูมิภาคเอเชีย อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน,เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เวียตนาม, สิงคโปร์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติ เพราะมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต รักชาติรักประชาชนโดยแท้จริงทั้งสิ้น     

     เรื่องของผู้นำประเทศ กับประชาชนและการสร้างชาติ จึงเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แยกกันไม่ออกเหมือนปลากับน้ำ การที่ประชาชนโหยหาผู้นำประเทศที่ดี จึงมิใช่เรื่องในนิทานเรื่องกบเลือกนาย แต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนผู้ถูกปกครอง ผู้นำประเทศที่ดี พึงตระหนักถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชน ต้องไม่เย่อหยิ่งทะนงตน ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนรับฟังความคิดเห็นประชาชน สนใจรับฟังและศึกษาจากผู้อื่น ประชาชนเขาต้องการผู้นำเช่นไร หากผู้นำไม่ฟังเสียงเรียกร้องหรือความคิดเห็นที่สะท้อนถึงผู้นำ ย่อมยากที่ผู้นำคนนั้นๆ จะได้ความนิยม หรือ ความรักความศรัทธาจากประชาชน หรือ ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ

     บ้านเมืองเรานั้น การที่จะหาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาโดยการเลือกตั้ง หรือโดยวิถีทางอื่นนั้นมิใช่เรื่องยาก แต่ประเทศและประชาชน ต้องการผู้นำประเทศที่ดี มิใช่แค่ต้องการนายกรัฐมนตรี ที่เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นครับ เพราะมีแต่ผู้นำประเทศที่ดี มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมเท่านั้น ประเทศจึงจะสามารถรวมพลังสร้างชาติ ให้เจริญก้าวหน้า เข้มแข็งและมั่นคง ประชาชนอยู่ดีมีความสุขได้