เศรษฐกิจไทย กำลังเสียสมดุล

01 ต.ค. 2565 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ

ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ได้ปรับประมาณการณ์ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศไทย ปี 2565 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.9% เป็น 3.1% หลังภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออกฟื้นตัว และยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่อัตรา 4.1% ในปี 2566
 

สอดรับกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ที่ปีนี้จะขยายตัวระดับ 3.3 % และปี 2566 จะขยายตัวที่ระดับ 3.8 %  

การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ธนคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนให้เห็นถึงเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปีนี้ทุกตัวเริ่มกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9 % การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 5.4% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 3.5 % การส่งออก จะขยายตัวที่ 7.1% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ปีนี้คาดว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวราว 10 ล้านคน 
     

หากมองอีกด้าน เศรษฐกิจไทยกำลังจะเสียภาวะสมดุล ที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จากราคาพลังงานและค่าครองชีพ สวนทางกับรายได้ที่ทรงตัว รวมถึงนโยบายดอกเบี้ย ที่จะส่งผลต่อสถาบันการเงินให้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้มตามมา จะสร้างภาระให้กับกลุ่มเปาะบางต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก

ในขณะที่เครื่องจักรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างการส่งออก ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นพระเอกสร้างรายได้ให้กับประเทศช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าราว 6.63 ล้านล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า แต่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็มีมูลค่าสูงขึ้นราว 7.21 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าไทยต้องขาดดุลทางการค้าถึง 5.83 แสนล้านบาท เฉพาะสิงหาคมเดือนเดียวขาดดุลการค้าถึง 1.65 แสนล้านบาท 
     

ที่สำคัญเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กำลังจะมีสัญญาณอ่อนค่าลงอีก ประเมินกันกว่าจะอ่อนค่าลงไปถึง 39-40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังมีส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐอเมริกา 2-2.5% และธนาคากลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ยังเหลือการประชุมปรับพิจารณาดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในรอบปีนี้ คาดกันว่าจะปรับเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.75% เมื่อถึงสิ้นปีนี้ จะปรับขึ้นอยู่ที่ 4.75% เพิ่มแรกหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้มาอีก กดเงินบาทให้ยิ่งอ่อนค่าลงอีก เมื่อเป็นเช่นนี้จะยิ่งให้ไทยประสบปัญหาการขาดดุลการค้ามากยิ่งขึ้น หรือพูดง่ายๆว่าไทยเสียมากกว่าได้
     

อีกทั้ง ค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปีหน้า คาดว่าจะขึ้นมาอยู่ 5-6 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย บวกกับค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นมา จะทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เพราะจะเป็นปัจจัยหรือตัวแปรที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายฐานการผลิต หรือเลือกประเทศที่จะตัดสินใจไปลงทุนอย่างเวียดนามที่เป็นประเทศคู่แข่งสำคัญในเวลานี้ เพราะเปรียบเทียบอย่างค่าไฟฟ้ารัฐบาลช่วยอุดหนุนอยู่ก็เก็บเพียง 2.88 บาทต่อหน่วยเท่านั้น เป็นต้น 
     

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึง ไม่ให้เศรษฐกิจไทยต้องเสียสมดุลไปมากกกว่านี้ จำเป็นต้องเร่งสร้างเม็ดเงินให้ไหลเข้าประเทศมากขึ้น เช่น การชักจูงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ให้เดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลค่าไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนให้กับภาคการผลิต เพราะถือเป็นต้นทุนหลัก 30-40% สร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้มความเข้มแข็ง ลดการพึ่งสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศให้มากที่สุด เพราะถึงเวลานี้คงไม่มีใครช่วยได้ นอกจากพึ่งตัวเอง