ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนส.ค.ฟื้นตัว แต่ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพ

30 ก.ย. 2565 | 10:06 น.

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนส.ค.ฟื้นตัวดี แต่ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพ จับตาการส่งผ่านต้น-ค่าจ้างและการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศในระยะข้างหน้า

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินในเดือนสิงหาคม 2565 ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ขยายตัวได้ 16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวในทุกหมวดสินค้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในบางหมวดสินค้า 
 

ขณะที่ภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคารและขนส่งปรับดีขึ้น สะท้อนจากอัตราการเข้าพักโรงแรมที่สูงขึ้น แม้ว่านักท่องเที่ยวไทยจะลดลงจากเดือนก.ค.ที่มีวันหยุดพิเศษเยอะ และมาตรการเที่ยวด้วยกัน

 

อย่างไรก็ดี หากดูนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีจำนวนที่สูง 1.2 ล้านคน มาจากการผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยวและการเดินทางมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งนับจากต้นปี-ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 4.4 ล้านคน 

ด้านตลาดแรงงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยดูจากจำนวนผู้ประกันตนมาตรการ 33 ทยอยเพิ่มขึ้นกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงอัตราการว่างงานของกลุ่มเด็กจบใหม่และระยะยาวปรับลดลง โดยจากการสำรวจอาชีพอิสระพบว่าสัญญาณเป็นบวกสะท้อนความเชื่อมั่นตลาดแรงงานที่ดีขึ้น
 

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 1.9% ทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และการก่อสร้าง ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดรถยนต์จดทะเบียนรถบรรทุกปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัว และยอดขายสินค้าหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น สะท้อนไปยังความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการผลิตทยอยปรับเฉลี่ยเหนือระดับ 50 แต่เป็นการปรับลดลงเนื่องจากมีความกังวลในเรื่องของโลหะที่คาดว่าจีนจะลงมาดัมพ์ราคา

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า 3 เดือนความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นทั้งภาคการผลิตและการลงทุน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำและการลงทุน โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำมาจากเรื่องของสวัสดิการและเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ขณะที่รายจ่ายการลงทุนมาจากคมนาคมและขนส่งสาธารณะ และรัฐวิสาหกิจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน 
 

ทั้งนี้ ในส่วนภาคต่างประเทศด้านการส่งออกชะลอลดลงจากเดือนก่อนหน้า 3.9% มาจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอ โดยหมวดที่ปรับลดลงจะเป็นสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีผลผลิตที่น้อยลง ด้านภาคผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2.4% มาจากการผลิตรถยนต์นั่งหลังจากปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลาย 
 

ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่เป็นการขาดดุลที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากดุลบริการและเงินโอนปรับลดลง ซึ่งมาจากบริษัทต่างชาติส่งเงินกลับประเทศน้อยลง ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.83 หมื่นล้านดอลลาร์ 
 

ต่อข้อถาม ผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ธปท. ดูแลตั้งแต่สมดุลความเสี่ยงที่เปลี่ยนแล้วหรือ Balance of Risk ว่าทิศทางนโยบายระยะเวลาที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไรสิ่งที่ธปท. ได้ดำเนินนโยบายการเงินซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็เป็นการดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและลูกหนี้ที่มีภาระหนี้ที่จะมีภาระเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันได้หารือเจ้าหนี้ 


ปรับมาตรการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลดภาระที่จะเพิ่มขึ้นลงได้ในอนาคตทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินหลักหลักจะเข้าไปดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงโดยพยายามดูแลไม่ให้เครื่องยนต์ติดเพราะถ้าติดแล้วดับยากดังนั้นต้องมีการป้องกันไม่ให้ติดซึ่งเป็นจุดสำคัญเพราะถ้าเงินเฟ้อเร่งขึ้นไปในระดับสูงค่าครองชีพของทุกคน ไม่ว่าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด