พระราชประวัติ 'สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2' กษัตริย์ผู้ทรงกรณียกิจตลอดพระชนม์ชีพเพื่อประชาชน

08 ก.ย. 2565 | 18:10 น.

พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเนื่องในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ตอนหนึ่งความว่า “ข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเป็นเจ้า เเละประชาชนของข้าพเจ้าทุกคนตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ" เป็นเหมือนคำสัญญาที่พระองค์ทรงพระราชทานให้แก่พสกนิกรและทรงยึดมั่นปฏิบัติเช่นนั้นเสมอมา

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่ง สหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์ครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในขณะนั้น พระองค์ถือเป็นกษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์ชีพและครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ทั้งยังทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษด้วยพระชนมพรรษา 96 พรรษา

 

ทรงเป็นพระประมุขของสหราชอาณาจักรและอีก 15 ประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงเป็นองค์ประมุขรัฐในเครือจักรภพที่มีประเทศสมาชิก 54 ประเทศ ทั้งยังทรงเป็นประธานเครือจักรภพและประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England)

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เเรกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เเละสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธพระราชชนนี ทรงมีพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1926 ณ บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์เเฟร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร พระองค์ทรงมีพระขนิษฐาพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งมีพระชันษาน้อยกว่าพระองค์ 4 พรรษา

พระราชบิดาของพระองค์ (สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6) เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี เสด็จขึ้นครองราชย์เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 พระปิตุลาของพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติ ทำให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทโดยสันนิษฐานแห่งสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

 

เมื่อพระบิดาได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงศึกษาเพิ่มเติมทางด้านประวัติศาสตร์ และกฎหมาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคต นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงศึกษาทางด้านศิลปะ ดนตรี และเรียนการขี่ม้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกีฬาที่ทรงโปรดปราน

 

หลังจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคตในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (หรือพระนามเต็มในเวลานั้นว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี เเห่งยอร์ก) จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ขณะมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา หลังจากนั้น 16 เดือนจึงมีพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก (พระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์) ของพระองค์ จัดขึ้นที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

พระบรมฉายาลักษณ์วันบรมราชินยาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ฉายคู่กับดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1953

 

พระปฐมบรมราชโองการ "พร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชน"

ในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวอังกฤษว่า "ในพิธีบรมราชินยาภิเษกวันนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ให้ช่วยสวดภาวนาให้ข้าพเจ้า ในวันที่ข้าพเจ้าต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์เเห่งอังกฤษ สวดภาวนาให้พระเป็นเจ้าประทานพระปัญญาญาณเเละความเข้มเเข็งให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติราชกิจลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ เเละข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเป็นเจ้า เเละประชาชนของข้าพเจ้าทุกคนตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ"

พระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวอังกฤษ ส่วนหนึ่งใจความว่า "ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า"

นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์มา 70 ปีกว่าแล้ว ซึ่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกและของประเทศอังกฤษ  

 

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ เพิ่งทรงเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางการเตรียมงาน Platinum Jubilee ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองครองราชย์กว่า 70 ปี อย่างยิ่งใหญ่ในกรุงลอนดอน พสกนิกรจำนวนมากมารวมตัวกันที่ลานด้านหน้าของพระราชวังบักกิงแฮม เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่นี้ พระองค์มีพระชนมายุ 96 พรรษาและยังดูมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระสรวลอย่างแจ่มใส เป็นภาพที่นำความปลาบปลื้มมายังพสกนิกรที่เฝ้าชื่นชมพระบารมี  

 

ย้อนไปเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงเป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแม้พระชนมายุเพียงสิบกว่าพรรษา เช่นทรงพระราชดำรัสออกอากาศในรายการสำหรับเด็กในประเทศอังกฤษและเครือจักรภพของบีบีซี นอกจากนี้ ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจครั้งแรกเมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ในฐานะนายทหารยศพันเอกแห่งกองทหารราบรักษาพระองค์ โดยทรงตรวจพลสวนสนามและยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก และเยาวชนอีกมากมาย

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์

หลังจากที่ครบรอบพระชนมายุ 18 พรรษาได้ไม่นาน พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาล และได้เริ่มปฏิบัติพระราชกรณียกิจแห่งองค์รัชทายาทเป็นครั้งแรก

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารนอกประจำการ พระราชกรณียกิจของพระองค์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเสด็จประพาสภายในและนอกประเทศ พระราชกรณียกิจในระหว่างการเยือนนี้ เป็นช่วงที่ครบรอบวันประสูติปีที่ 21 ซึ่งพระองค์ได้ทรงแถลงการณ์ออกอากาศ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะอุทิศพระองค์ เพื่อภารกิจของประเทศในเครือจักรภพ และในปีเดียวกันนั้นเอง ที่พระองค์ทรงประกาศหมั้นกับ "เรือโทฟิลลิปส์ เมาท์แบทเท็น" (ต่อมาคือเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ) โดยพระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 พระองค์ทรงแถลงการณ์ซ้ำอีกครั้งถึงเจตนารมณ์ ที่จะอุทิศพระองค์เพื่อภารกิจของประเทศในวันเสด็จขึ้นครองราชย์

 

สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์แรกคือ เจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายแห่งเวลส์" ประสูติเมื่อปี 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ราชกุมารี" พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งยอร์ก" และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น "เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์"

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายพร้อมกับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี พร้อมด้วยพระราชโอรส-พระราชธิดา

พระราชโอรส-พระราชธิดาทุกพระองค์ทรงงานสืบสานภารกิจของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทั้งในงานสาธารณกุศลและพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ โดยสมเด็จพระราชินีนาถฯเองแม้เมื่อทรงมีพระชนมายุมากแล้วก็ยังคงทรงงาน โดยเฉพาะในแง่การเป็นขวัญกำลังใจให้แก่พสกนิกร เช่นเมื่อครั้งที่อังกฤษประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทรงมีพระราชดำรัสเป็นโอกาสพิเศษ ขอบใจประชาชนที่ปฏิบัติตามข้อบังคับของรัฐบาลที่ให้อยู่แต่ในบ้าน และชื่นชมผู้ที่ร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งบุคลากรสำคัญ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆที่เป็นผู้นำในการต่อสู้กับโรคระบาด

 

“ขอให้ประชาชนดำเนินตามรอยของบรรพบุรุษชาวอังกฤษในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหานั่นคือ การแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ดี มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจกัน” เป็นส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2020 ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 94 พรรษา

 

วันที่ 8 กันยายน 2022 สำนักพระราชวังบักกิงแฮม แถลงการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นทางการขณะพระชนมายุ 96 พรรษา "ฐานเศรษฐกิจ" ขออัญเชิญพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วขณะอังกฤษกำลังเผชิญความทุกข์ใหญ่หลวงจากโรคระบาดโควิด-19 ความว่า

 

“ข้าพเจ้าหวังว่าในอีกหลายปีข้างหน้า ทุกคนจะสามารถภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราทำวันนี้เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ลูกหลานของเราในภายภาคหน้าจะกล่าวถึงชาวอังกฤษในยุคนี้ว่าเป็นผู้ที่เข้มแข็งเฉกเช่นที่เคยเป็นมา”