เปิดรายงาน “เสียงแห่งจะนะ”มลพิษนิคมฯอาจกระทบทรัพยากร อาชีพ สุขภาพ

20 พ.ย. 2566 | 10:37 น.

ชาวจะนะ เปิดตัวรายงาน “เสียงแห่งจะนะ” เผยข้อมูลมลพิษจากการตั้งนิคมอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบต่อ ทรัพยากร อาชีพ และสุขภาพ

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและกรีนพีซ ประเทศไทย เปิดตัวรายงาน "เสียงแห่งจะนะ" ซึ่งรวบรวมข้อมูลคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมของอำเภอจะนะ และความเสี่ยงด้านผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติ อากาศ ทะเลและชายฝั่ง ไปจนถึงภัยคุกคามต่ออาชีพและสุขภาพของชุมชน หากมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเกิดขึ้น

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในปี 2562 แต่หลังจากเสียงคัดค้านของชุมชน ทำให้ต้องมีการจัดทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย ชาวบ้านอำเภอจะนะ และนักวิชาการจึงได้รวบรวมข้อมูลทรัพยากร และรายได้ที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ และศึกษาผลกระทบของโครงการนิคมฯต่อวิถีชีวิตชุมชน จนออกมาเป็นรายงานฉบับนี้

เปิดรายงาน “เสียงแห่งจะนะ”มลพิษนิคมฯอาจกระทบทรัพยากร อาชีพ สุขภาพ

 

รายงานพบว่า มลพิษที่สำคัญที่จะเกิดขี้นหากมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามแผนดังกล่าวมี 5 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5และPM10) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) และปรอท โดยมลพิษทั้ง 5 ชนิดจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของคนทางร่างกาย และจิตใจ มีผลกระทบต่ออาชีพประมงอาชีพ เลี้ยงนกและเกษตรกรรม

รุ่งเรือง ระหมันยะ ชาวประมงชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า แผนนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่ๆ ก็ได้รับการอนุมัติ โดยไม่ได้มีการศึกษาที่รอบคอบและไม่มีส่วนร่วมจากประชาชน อำเภอจะนะมีความอุมสมบูรณ์ทั้งปลาในทะเล ทรัพยากรในป่า การทำเกษตร และนกเขาที่โด่งดัง คนจะนะพึ่งพิงทรัพยากรเหล่านี้มารุ่นสู่รุ่น การต่อสู้ด้วยข้อมูลที่เรารวมรวมทำขึ้นจะทำให้เราสามารถยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์นี้ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ต่อยอดจากทรัพยากรที่เรามี  ไม่ใช่ทดแทนพื้นที่ด้วยอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ สุขภาพและวัฒนธรรม

เปิดรายงาน “เสียงแห่งจะนะ”มลพิษนิคมฯอาจกระทบทรัพยากร อาชีพ สุขภาพ

วรรณิศา จันทร์หอม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และหนึ่งในทีมเก็บข้อมูลร่วมกับกรีนพีซ กล่าวว่า ช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลศักยภาพพื้นที่ชุมชน และพบว่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมทั้งป่า เขา ทะเล เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนมหาศาล แน่นอนว่าถ้าถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรม ไม่เพียงแค่ทรัพยากรที่จะหายไป แต่จะกระทบถึงรายได้และวิถีชีวิตของชาวบ้านจะนะที่พึ่งพิงทรัพยากรเหล่านี้

วิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์โครงการทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาของรัฐที่ละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และทำลายสิ่งแวลล้อมเกิดขึ้นจำนวนมาก จะนะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รายงานฉบับนี้จะช่วยให้ได้เห็นประสบการณ์ เบื้องหลังความคิด และพัฒนาการว่าทำไมชาวจะนะถึงต้องส่งเสียงต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง

ขณะที่ข้อมูลทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในรายงานเล่มนี้จะชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนของชาวบ้านนั้นไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อทุกคนในสังคมที่ใช้และเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การพูดคุยให้เกิดข้อเสนอแนวทางการพัฒนาของชาวบ้านที่ทำให้เห็นว่าชุมชนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายและออกการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่ของตัวเองได้

ข้อค้นพบด้านผลกระทบจากมลพิษที่อาจเกิดขึ้น

มลพิษทั้ง 5 ชนิดมีผลกระทบกับทั้งสุขภาพของคนทางร่างกาย และจิตใจ มีผลกระทบต่ออาชีพประมง อาชีพเลี้ยงนกและเกษตรกรรม ไม่ว่ามลพิษนั้นจะมีค่าต่ำ หรือสูงกว่าค่ามาตรฐานมลพิษอากาศในบรรยากาศของไทย

ผลกระทบด้านสุขภาพต่อคนโดยรวม (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ PM 2.5, PM 10, SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้จะมีปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาว รวม 15,406 คน ใน 14 หมู่บ้าน
  • ผู้คนที่อาศัยในบริเวณนี้จะมีความเครียดและซึมเศร้า รวม 6,418 คน ใน 7 หมู่บ้าน

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขา (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • นกเขาเริ่มมีปัญหาทางเดินหายใจ มี 1,204 บ้าน (ใน 6 หมู่บ้าน) ที่เลี้ยงนกเขาในบริเวณนี้
  • เนื้อเยื่อหลอดลมของนกเขาเสียหาย มีเมือก (เสมหะ) มาก มี 3,238 บ้าน (ใน 14 หมู่บ้าน) ที่เลี้ยงนกเขาในบริเวณนี้

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มผู้ทำประมงพื้นบ้าน (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2, ปรอท เพิ่มขึ้นเกิน 10  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • ระบบนิเวศทางทะเลได้รับความเสียหาย สัตว์ทะเล 13 สายพันธุ์ มี 3,400 บ้าน (ใน 15 หมู่บ้าน) ที่ทำอาชีพประมง
  • มีปรอทสะสมในสัตว์ทะเล สัตว์ทะเล 13 สายพันธุ์ มี 6,810 บ้าน (ใน 27 หมู่บ้าน) ที่ทำอาชีพประมง

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มเกษตรกร (กรณีโรงงานปล่อยมลพิษ SO2, NO2 เพิ่มขึ้นเกิน 10  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

  • บริเวณที่กรดตกสะสม กระทบต่อคุณภาพดิน มี 3,238 บ้าน (ใน 14 หมู่บ้าน) ที่ทำอาชีพเกษตรกร

เปิดรายงาน “เสียงแห่งจะนะ”มลพิษนิคมฯอาจกระทบทรัพยากร อาชีพ สุขภาพ