svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

คาร์บอนเครดิตคึก FTIX เปิดแพลตฟอร์มซื้อขาย 16 ม.ค.นี้

15 มกราคม 2566

ส.อ.ท.จับมือ อบก.เดินหน้าขับเคลื่อนตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต เปิดแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมเทรดได้ 16 ม.ค.นี้ หนุนเอกชนรับมือลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อบก.ชี้ ตลาดยังเปิดกว้าง มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายได้เกือบ 13 ล้านตัน

ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดตัว Marketplace หรือตลาดรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER ผ่าน “ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ไปแล้ว

 

ล่าสุด ส.อ.ท.ได้เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVER บนแพลตฟอร์ม FTIX ได้เป็นครั้งแรกแล้ว โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (FTI-CCi) ส.อ.ท.จะเปิดให้มีการลงทะเบียนเป็นสมาชิกแพลตฟอร์ม FTIX เพื่อทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เป็นการทั่วไปในวันที่ 16 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

 

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานคณะทำงาน Climate Change ส.อ.ท. กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าว แสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมและลงมือทำ (Climate Action) ในการลดก๊าซเรือนกระจก ที่นอกจากจะช่วยโลกและประเทศให้รอดพ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุน ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีด้วย

 

 ส.อ.ท.จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม FTIX ขี้นมาเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิต ให้เกิดการซื้อขายที่สะดวกมากขึ้นกว่าแบบ OTC–Over The Counter ที่มีอยู่เดิม สามารถเห็นราคาซื้อขายบนตลาดได้เช่นเดียวกับตลาดหุ้น มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มโดยคณะกรรมการกำกับดูแล และมีการบริหารศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยคณะกรรมการร่วม ระหว่าง อบก. กับ ส.อ.ท. ทำให้เกิดความโปร่งใสเชื่อถือได้ เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสมคุ้มค่า สามารถรักษาระดับหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ต่อไป

 

คาร์บอนเครดิตคึก FTIX เปิดแพลตฟอร์มซื้อขาย 16 ม.ค.นี้

 

สำหรับแพลตฟอร์ม FTIX ประกอบด้วย ศูนย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับระบบของ อบก. นอกจากนี้จะมี ศูนย์ซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อตอบสนองความต้องการ RE100 รวมถึง ศูนย์ซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

 

“แพลตฟอร์ม FTIX จะมีบริษัทเอกชนประมาณ 12,000 แห่ง ใน 45 ภาคส่วน ที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทและหน่วยงานภาครัฐสามารถซื้อและขายคาร์บอนเครดิตและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บน Dashboard ออนไลน์”

 

ทั้งนี้ อบก.รายงานว่า สำหรับสถิติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 319 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้หรือกักเก็บได้ 10.79 ล้านตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า

 

 ขณะที่โครงการที่ได้การรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แล้ว จำนวน 141 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต จำนวน 13.97 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แบ่งตามประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการประเภทการพัฒนาพลังงานทดแทน (AE) 8,325,276 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (EE) 2,254,974 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการประเภทพลังงานทดแทนจากการจัดการของเสีย (AE+WM) 2,205,966 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า และโครงการประเภทป่าไม้ (FOR) 7,890 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

โดยที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้วราว 2,019,099 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว คิดเป็นมูลค่าราว 152.95 ล้านบาท

 

ส่วนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม-ธันวาคม 65) มีโครการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 9 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้หรือกักเก็บได้ 202,410 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีโครงการที่ได้การรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER แล้ว จำนวน 8 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตทั้งสิ้น 460,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการซื้อขายคาร์บอนเครดดิตแล้วทั้งสิ้น 60,552 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 2.18 ล้านบาท

 

 อย่างไรก็ตาม ในระบบทะเบียนคาร์บอนมีการยกเลิกคาร์บอนเครดิตเพื่อใช้แล้ว 1,205,220 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีปริมาณคาร์บอนเครดิต TVERs คงเหลือในระบบจำนวน 12.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า