ชาวนาสุพรรณ เฮ! ขายคาร์บอนเครดิตได้ตันละ 400

08 ม.ค. 2566 | 06:58 น.

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero กลายเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงแค่ฝ่ายกำหนดนโยบายจะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น

ขณะที่ภาคเอกชนกำลังตื่นตัว และภาคเกษตรกรได้เริ่มเรียนรู้และเข้าใจ ที่จะนำโอกาสของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาสร้างเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการส่งเสริมการทำนาแบบวิธีเปียกสลับแห้ง ที่สามารถนำมาขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว

 

แหล่งข่าวจากกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่แต่ละประเทศมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยพยายามส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิต ไปจนถึงตลอดห่วงโซ่ หากบริษัทใดไม่ลงทุนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนฯได้ ก็สามารถซื้อขายคาร์บอนฯ มาเคลมเป็นของตัวเองได้ ซึ่งเป็นวิธีที่เกิดขึ้นแพร่หลายในเวลานี้

 

ชาวนาสุพรรณ เฮ! ขายคาร์บอนเครดิตได้ตันละ 400

 

ทั้งนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว กำลังสร้างโอกาสหรือรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย ล่าสุดมี บริษัท Spiro Carbon เป็นองค์กรสัญชาติอเมริกัน ที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกรที่ปลูกผลิตผลต่าง ๆ ให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ในราคาดี โดยไม่ต้องไปจ้างหรือผ่านตัวกลางอื่นใด และนำเข้าสู่ตลาดคาร์บอนระดับสากล

 

เรียกได้ว่า เป็นกระบวนการระดับรากหญ้าแบบ end-to-end แห่งแรกของโลกที่จะช่วยให้การผลักดันการกักเก็บคาร์บอนจากเกษตรกรทั่วโลกได้มากขึ้นด้วยแพลตฟอร์มของบริษัทจะมารับซื้อจากเกษตรกรโดยให้ราคาต่อตันคาร์บอนเทียบเท่าละ 400 บาท โดยมีเงื่อนไขคือให้เกษตรกรต้องปล่อยนํ้าในการทำนาให้แห้ง 2 ครั้ง

“ทางบริษัทจะโอนเงินให้ทันทีจากการใช้เทคโนโลยีจานดาวเทียมเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ที่ได้ลงทะเบียนกับ Spiro Carbon จะเป็นการตรวจจับพืชผลที่มีแสงแตกต่างกันออกไป พร้อมแสดงข้อมูลพิสูจน์ว่า ที่นาผืนนี้มีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจริงไหม และลดก๊าซมีเทนไปได้ในปริมาณเท่าใด อีกทั้ง ยังใช้ Blockchain สร้างระบบแบบกระจายศูนย์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และความน่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งหมด ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า นาข้าว 1 ไร่ จะมีการปล่อยคาร์บอนออกมาประมาณ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

 

สำหรับการจัดการนํ้าแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว กรมชลประทาน ได้แนะนำขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน จากนั้นปรับให้พื้นที่สมํ่าเสมอ และปลูกข้าว (หว่าน ปักดำ หรือหยอด) หรือถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน หลังหว่านข้าวให้ระบายนํ้าให้แห้งเพื่อให้เมล็ดข้าวงอกสมํ่าเสมอ พ่นสารคุม-ฆ่าวัชพืชหลังหว่านข้าว 10 วัน และเอานํ้าเข้าแปลงหลังพ่นสารภายใน 2 วัน ประมาณ ครึ่งต้นข้าว รักษาระดับนํ้าไว้จนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยรองพื้น

 

จากนั้นเมื่อข้าวอายุ 20-25 วัน ให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น แล้วปล่อยนํ้าในนาให้แห้งไปโดยธรรมชาติจนนํ้าอยู่ที่ระดับ 15 เซนติเมตรใต้ผิวดิน สูบนํ้าเข้าแปลงจนระดับนํ้าสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดินแล้วปล่อยนํ้าให้แห้งไปตามธรรมชาติ ทำสลับกันไปจนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ที่ระยะกำเนิดช่อดอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าระยะข้าวแต่งตัว แล้วใส่ปุ๋ยแต่งหน้า และรักษาระดับนํ้าในแปลงให้อยู่ที่ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน จึงปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุกแก่สมํ่าเสมอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งวิธีนี้นอกจากเป็นวิธีลดการใช้นํ้าแล้ว ยังลดการรบกวนของแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เวลานี้มีชาวนาที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว 2 ราย มีรายได้ประมาณ 8,000 กว่าบาทต่อราย (รายละ 10 ไร่) การทำวิธีนี้ชาวนาลดต้นทุน ลดการใช้นํ้า ซึ่งพอมีคนประสบความสำเร็จจากการขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9,000 ไร่ ล่าสุดส่งผลให้เกิดใหม่คือธุรกิจนายหน้าซื้อขายคาร์บอน โดยมารับซื้อเพื่อนำไปขายต่อ เป็นแรงจูงใจและทำให้ชาวนาตื่นตัว

 

ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือ การขายคาร์บอนเครดิต ผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. แต่ยังไม่เกิดความสะดวกสบายในการขายของเกษตรกร โดยจะให้เกษตรกรเมื่อได้ใบรับรองจากหน่วยงานที่รับรองแล้ว ทาง อบก.ก็จะติดประกาศขาย หากมีบริษัทใดสนใจมารับซื้อ ซึ่งราคาคาร์บอน ประกาศซื้อขายทุกวันเหมือนหุ้น ราคาขายแต่ละวันต่างกัน ขึ้นกับความพึงพอใจของเกษตรกรว่าจะขาย ณ วันใดก็จะได้ราคานั้น