กระทรวงพลังงาน ชง 6 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหน้าหนาว

03 ต.ค. 2565 | 11:57 น.

ทั่วโลกกำลังผวาจะต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานยิ่งขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่ต้องรับภาระหนักอยู่แล้ว โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่มีความต้องการสูงในเวลานี้ปรับตัวขึ้นมากกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกในหน้าหนาวนี้

กระทรวงพลังงาน ในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบการจัดหาพลังงานให้เพียงพอและในราคาที่เหมาะสม กำลังตื่นตัวที่จะรับมือกับวิกฤตพลังงานระยะสั้น ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2565 ที่ต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเร็ว ๆ นี้

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงพลังงาน กำลังเตรียมแผนรับมือจากวิกฤตราคาที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จากค่าไฟฟ้าที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2566 โดยพยายามจะไม่ให้มีการอนุมัติการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้า จากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ได้มีการนำเข้ามาแล้วกว่า 2.02 ล้านตัน เนื่องจากช่วงนั้นคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นไปจากที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่กระทรวงพลังงาน เตรียมแผนไว้ จะไปเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม จากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช (แหล่ง G1/61 และ G2/61) ให้เต็มความสามารถ จากเดือนสิงหาคม 2565 ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยผลิตได้ราว 1,933 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งต้องเร่งเจรจากับทางองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA เพื่อจัดซื้อก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันซื้ออยู่ราว 476 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้จะจ่ายราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ แต่ก็ยังถูกกว่า เมื่อเทียบกับการให้ก๊าซแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าที่ 41 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

 

ขณะที่ช่วงปลายปี 2565 เป็นฤดูกาลหีบอ้อย ซึ่งจะทำให้มีปริมาณกากอ้อย เพื่อมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะมีมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิมของโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น

กระทรวงพลังงาน ชง 6 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหน้าหนาว

 

นอกจากนี้ ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เปลี่ยนมาใช้มันดีเซลและนํ้ามันเตา ในการผลิตไฟฟ้าแทน เพราะเมื่อเทียบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีนำเข้าจะตก 7-8 บาทต่อหน่วย ขณะที่ใช้นํ้ามันดีเซลจะอยู่ราว 4-5 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ใช้ก๊าซฯ ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้นํ้ามันดีเซลและนํ้ามันเตา 100% แต่ขอให้ใช้ได้บางส่วน เพื่อเก็บเล็กผสมน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 

อีกทั้ง ต้องพิจารณาโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนตํ่า ที่อาจต้องแลกกับการปล่อยมลพิษที่สูงบ้าง แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ที่ต้องเลือนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิตราว 300 เมกะวัตต์ ที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2564 ให้กลับมาเดินเครื่องใหม่ อีกทั้งปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กำลังผลิตราว 150 เมกะวัตต์ ซึ่งปลดระวางไปแล้วให้กลับมาเดินเครื่องใหม่อีกด้วย

 

“เราต้องคิดว่าอีก 3 เดือนจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าราคาพลังงานยังผันผวนอยู่แบบนี้ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราจะมีมาตรการอะไรในการรองรับ ไม่ให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น”

 

ส่วนแผนการรองรับวิกฤตพลังงานระยะยาวนั้น เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องเตรียมการไว้ ไม่เพียงการจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ไปแล้ว และคงได้ผู้ชนะภายในสิ้นปีนี้ แต่ประเทศยังมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานจากเพื่อนบ้านไว้ใช้ในอนาคตด้วย เพราะในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด การใช้ก๊าซธรรมชาติ ยังถือว่าเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่ากว่าการใช้ถ่านหินถึง 50% ซึ่งวันนี้โอกาสมีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) ร่วมกัน

 

โดยคณะรัฐมมนตรี ได้รื้อฟื้นคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน และยังแต่งตั้งคณะทำงาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ประกอบไปด้วย อนุกรรมการคณะทำงานเขตแดน และอนุกรรมการคณะทำงานการพัฒนาแหล่งปิโตร เลียม OCA เพื่อพิจารณาร่างกรอบการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มมีการหารือกันบ้างแล้ว และคาดว่าทางกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้นำการเจรจา จะมีการหารือกับทางกัมพูชาในเร็ว ๆ นี้อีกครั้ง ซึ่งเวลานี้ทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมด้านข้อมูลเรียบร้อยแล้ว หากการเจรจาได้ข้อยุติลงได้เมื่อใด พร้อมที่จะเดินหน้าได้ทันที

 

“การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ ใช้เวลา 25 ปี กว่าจะผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้ หากวันนี้ OCA ตกลงกันได้ ตั้งเป้าหมายไว้ในระยะ 10 ปี จะสามารถผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอยากให้มั่นใจว่า ทางกระทรวงพลังงานทำทุกวิถีทาง เพื่อจัดหาพลังงานราคาตํ่า แม้กระบวนการจะมีความคืบหน้าทีละน้อย แต่การพัฒนา OCA จะต้องทำเพื่อประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ แล้วทางรัฐบาลกัมพูชาเอง ก็พร้อมหารือเพราะเห็นวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า และยังต้องการใช้ก๊าซอยู่ แม้จะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็มีเทคโนโลยี การกักเก็บคาร์บอนได้ออกไซด์หรือ Carbon capture, utilisation and storage :CCUS) มารองรับ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มปตท.ก็กำลังศึกษาและทดลองนำร่องในพื้นที่อ่าวไทยอยู่ ดังนั้น แม้จะยังใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าอยู่ แต่ก็สามารถให้ประเทศสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี ภายในปี ค.ศ. 2050 ได้”