รัฐเปิดฉากเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รุกแก้วิกฤตพลังงานระยะยาว

21 ก.ย. 2565 | 10:23 น.

วิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทย ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ราคาพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงมาทดแทน ส่งผลค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

หลายฝ่ายออกมาชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาล จะต้องวางแผนระยะยาวในการจัดหาก๊าซธรรมชาติทดแทนในอ่าวไทยที่กำลังจะค่อย ๆ หมดไป เพื่อให้ประเทศมีแหล่งพลังงานของตัวเอง มีสำรองไว้ให้ลูกหลานมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และค่าไฟฟ้าที่ไม่สูงจนเกินไป กระทบต่อควาวสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

แหล่งพลังงานที่มีการกล่าวถึง โดยเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งเจรจาเพื่อพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้รองรับวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งวันนี้ดูเหมือนจะมีเริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาบ้างแล้ว

 

รัฐเปิดฉากเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รุกแก้วิกฤตพลังงานระยะยาว

 

  • ตั้งคณะทำงานรุกเจรจา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า อยู่ในแผนการทำงานของรัฐบาลแล้ว ในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำ และได้เริ่มเจรจาไปบ้างแล้ว ถือเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งเบื้องต้นได้รับทราบการรายงานของคณะกรรมการชุดนี้แล้วว่า การหารือก็เป็นไปได้ด้วยดี

 

 “ขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้นำเจรจา และวิธีการดำเนินการ แต่ยังต้องดูรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ยังมีเรื่องของแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ และต้องหาทางออก และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นด้วย ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถ้าร่วมมือก่อนได้ก็จะดี เพราะเริ่มกันเจรจาตั้งแต่วันนี้ และเสร็จเร็ว เชื่อว่าอีก 10 ปี คงได้ใช้ เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็มีหมดแล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งไทย และกัมพูชาด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

 

  • ย้อนรอยพื้นที่ทับซ้อน

ทั้งนี้ พื้นที่ซ้อนไทย-กัมพูชา มีพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร มีความสำคัญและละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชามาอย่างยาวนาน และเป็นพื้นที่ที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เนื่องจากมีปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมหาศาล ที่คาดว่ามีปริมาณสำรองนํ้ามันดิบกว่า 2,000 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญและธนาคารโลก

 

ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวนั้น ประเทศไทยได้ให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัทผู้รับสัมปทานไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 จนถึงปัจจุบันยังคงมีผู้รับสัมปทานที่ถือสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนนี้อยู่ ได้แก่ แปลง B5 และ B6 ผู้รับสัมปทานฝ่ายไทย Idemitsu (50%) Chevron Thailand E&P (30%) Mitsui Oil Exploration (20%) ผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชา Area I & II ได้แก่ Conoco (66.67%) และ Idemitsu (33.33%) แปลง B7 B8 และ B9 ผู้รับสัมปทานฝ่ายไทย Shell (66.67%) และ Chevron Overseas (33.33%) ส่วนผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชา Area III เป็น Total (100%) แปลง B10 และ B11 ผู้รับสัมปทานฝ่ายไทย Chevron Thailand E&P (60%) และMitsui Oil Exploration (40%) ส่วนผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชา Area IV ได้แก่ Conoco (70%) และ RPL (30%)

 

ส่วน แปลง B12 และ B13 บางส่วน ผู้รับสัมปทานฝ่ายไทย Chevron Thailand E&P (80%) Mitsui Oil Exploration (20%) ทางฝ่ายกัมพูชายังไม่มีผู้รับสิทธิ และแปลง B14 และ G9/43 ผู้รับสัมปทานฝ่ายไทย เป็น PTTEPI ส่วนฝ่ายกัมพูชายังไม่มีผู้รับสิทธิ

 

อดีตที่ผ่านมา ได้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาเป็นระยะ แต่ไม่สามารถยุติลงได้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2518 รัฐบาลไทยได้แจ้งให้ผู้รับสัมปทานทั้งหมดหยุดการดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ทับซ้อน จนกว่ารัฐบาลจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และหยุดนับระยะเวลาสำรวจในพื้นที่นี้ไว้ก่อน

 

  • บันทึกความเข้าใจ ปี 2544

จากนั้นวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ได้กลับมาลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยนายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย สมัยนั้น และ นายซก อัน อดีตรัฐมนตรีอาวุโสและประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา มีสาระสำคัญคือ ให้ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

1. พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไปให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ

 

2. พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมาให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกันโดยให้ดำเนินการทั้ง 2 ประการไปพร้อมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกและได้ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา เป็นกรอบการเจรจาเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

จากปี 2544 ถึง 2564 เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีที่รัฐบาลไทยและกัมพูชา ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ที่จะการแก้ไขพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนให้มีทางออก เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมแหล่งสุดท้ายในทะเลอ่าวไทย ได้รับการพัฒนาเพื่อนำปิโตรเลียมทั้งนํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และก๊าซธรรมชาติ ที่อยู่ใต้พื้นที่นั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ

 

ต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่งตั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) และมีกรรมการจากหน่วยราชการ อันได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมอุทกศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ รวมถึงได้กำหนดกรอบการเจรจาเรื่องพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โดยมีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่อง แต่การเจรจาก็ไม่มีความคืบหน้า ส่งผลให้ประเทศเสียโอกาสจากการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนมานาน

 

ทั้งนี้ หากการเจรจาที่กำลังเกิดขึ้น และนำไปสู่ข้อยุติได้ รูปแบบหรือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ก็สามารถใช้รูปแบบเดียวกันกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือจีดีเอ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้จริงและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด ในการดำเนินการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานให้กับประเทศได้