“สารัชถ์”จี้ถกกัมพูชา พัฒนา OCA รับมือวิกฤตพลังงานระยะยาว

03 ต.ค. 2565 | 11:13 น.

“สารัชถ์” แนะรัฐบาลเร่งเจรจาพัฒนาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา หวังเป็นทางรอดประเทศ ช่วยทดแทนก๊าซในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดไป และช่วยพยุงค่าไฟฟ้าระยะยาวไม่ปรับตัวสูงมากขึ้น ชี้โมเดล JDA เป็นทางออก

ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤตพลังงานชัดเจนมากขึ้น สะท้อนได้จากราคาก๊าซธรรมเหลวหรือแอลเอ็นจีในตลาดโลกได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นมากต่อเนื่อง จากระดับราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับกว่า 41 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ ซึ่งมีปัจจัยมาจากความต้องการใช้ก๊าซฯของโลกมีสูงมากขึ้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอย่างหนัก หลังจากรัสเซียส่งก๊าซฯให้ในปริมาณที่น้อยลง

ขณะที่กระทรวงพลังงานกำลังตั้งรับวิกฤตพลังงาน ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.65) นี้ เพื่อลดปริมาณการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาแพงให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะพุ่งขึ้นตามมา จากปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

 

“สารัชถ์”จี้ถกกัมพูชา พัฒนา OCA รับมือวิกฤตพลังงานระยะยาว

 

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้นมาเวลานี้ หากแยกโครงสร้างค่าไฟฟ้าแล้ว ตัวค่าไฟฟ้าหรือค่าไฟฐานไม่ได้แพงขึ้น แต่เกิดจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้า มีราคาสูงขึ้น หรือค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที) ที่นำมาคำนวณเป็นค่าไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยฉพาะการพึ่งก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าในรูปแบบ Spot ที่มีราคาแพง และมีปริมาณสูงขึ้นนับจากปี 2564 เป็นต้นมา จึงสะท้อนมาเป็นราคาค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ดังนั้น การแก้วิกฤตพลังงาน รัฐบาลต้องเร่งจัดหาแหล่งพลังงานสำรองไว้ใช้ในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพาการนำเขาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการหาแหล่งสำรองพลังงานไว้ใช้ในอนาคต เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรจะเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) ร่วมกับทางกัมพูชาให้เร็วที่สุด เพื่อที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จากปิโตรเลียมหรือก๊าซฯ ที่มีอยู่ร่วมกัน เพราะหากพัฒนาขึ้นมาได้เชื่อว่าราคาก๊าซฯ จะไม่แพงกว่าราคาแอลเอ็นจี ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าในระยะยาวปรับตัวลดลงได้

 

 “เข้าใจว่าการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะดูในเรื่องของเส้นแบ่งเขตแดน ขณะที่กระทรวงพลังงานจะมองถึงการพัฒนาเป็นแหล่งเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำอย่างไรให้ทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถเดินไปด้วยกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยมีปัญหาเรื่องแบ่งเขตแดนกับทางมาเลเซีย แต่เมื่อหยิบยกการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน หรือพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) ทำให้สามารถพัฒนาพื้นที่และนำก๊าซฯและปิโตรเลียมที่มีอยู่ขึ้นมาใช้และแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งรูปแบบนี้ถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะให้ OCA เกิดขึ้นได้”

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเร่งเจรจาได้ข้อยุติโดยเร็ว กว่าจะพัฒนาหรือผลิตก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้ ก็ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยจะค่อย ๆ หมดไป หากมีปริมาณก๊าซฯจากแหล่ง OCA มาแทน ก็จะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงพลังงานไม่ขาดแคลน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

ส่วนปัญหาวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นเวลานี้ มองว่าเป็นเรื่องของการจัดหาและความต้องการที่ไม่สมดุลกัน เนื่องจากที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ หยุดไปมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น แต่แหล่งปิโตรเลียมที่ปิดไปไม่สามารถกลับมาผลิตได้ทันหรือไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น บวกกับปัจจัยความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ทำให้การจัดหาพลังงานหายไปอีก จึงส่งผลต่อราคาพลังงานในเวลานี้

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น อาจจะกินระยะเวลา 2-3 ปี เพราะเชื่อว่าสถานการณ์โลกจะปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล จากการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานมาเสริมความต้องการที่มีอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ บางประเทศก็ต้องปรับตัวหรือดิ้นรน หันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้จะทำให้การบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะล่าช้าออกไปจากที่ประกาศไว้ก็ตาม หรือแม้แต่การกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าหลังจากที่ปิดโรงไฟฟ้าไปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะนี้ได้เริ่มเห็นแล้วหลายประเทศในสหภาพยุโรป หรืออียูแล้ว เพื่อเป็นทางรอดของประเทศหลังจากได้รับผลกระทบกระทบจากการหยุดส่งก๊าซฯของรัสเซีย