สนพ.ลุยแผน เคลื่อน “EV” สร้างรายได้ใหม่ประเทศ

30 ก.ย. 2565 | 03:46 น.

การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานกำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่จะเข้ามาทดแทนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสันดาปภายใน (ICE) ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมัน เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมอีวี ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคารถอีวี ใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับรถอีวี 

 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับอีวีให้บรรลุตามเป้าหมาย “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู” รองผู้อำนวยการ สนพ. เกี่ยวกับแผน และแนวทางในการสนับสนุนอีวีที่มีรูปธรรมตามลำดับ

 

ตั้งเป้าผลิตอีวี 30% ปี 2573
 

นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า แนวทางการผลักดันอีวีในประเทศไทย สนพ. จะดำเนินการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
 

 

ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป ในส่วนของกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (สถานีชาร์จ) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มี.ค. 2565) ขณะที่โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 8,741 คัน

อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV ชาติ) เห็นชอบการขยายอัตราค่าไฟฟ้าถึงปี พ.ศ. 2568 รวมถึงด้านสิทธิและประโยชน์ในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เป็นผู้พิจารณา 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการและวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด คอนโดมิเนียม มาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ประชุมมอบหมายให้บีโอไอ และกรมสรรพสามิตพิจารณา

 

สนพ.ลุยแผน เคลื่อน “EV”  สร้างรายได้ใหม่ประเทศ

 

ลุยสถานีชาร์จ 1.2 หมื่นหัวจ่าย

 

จากสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นตัวผลักดันให้การใช้รถไฟฟ้ามีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาและการส่งเสริมการใช้งานรถอีวี เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ซึ่ง สนพ. ได้วางแผนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สนับสนุนการชาร์จในที่สาธารณะ ภายในปี 2025 ให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จไว (Fast Charge) 2,200 - 4,400 หัวจ่าย และตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 มากถึง 12,000 หัวจ่าย 

สำหรับมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ บอร์ด EV ชาติ ให้มีการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนเรื่องการผลิต กระทรวงพลังงาน สนับสนุนสถานีชาร์จเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีกระทรวงการคลัง และบีโอไอเข้ามาช่วยในเรื่องของการสนับสนุนลดหย่อนภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีรถนำเข้า การให้เงินสนับสนุนการซื้อรถยนต์ เป็นต้น โดยมีแผนการและเป้าหมายค่อนข้างชัดเจน เชื่อว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามแผนวางไว้ และจะสอดรับกับ Carbon Neutrality สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต

 

เร่งพัฒนาระบบเก็บพลังงาน

 

 นายวีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สนพ. ยังให้การสนับสนุนแนวทางในการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (ENERGY  STORAGE SYSTEM (ESS)) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้รถอีวีเพิ่มมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษาโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดแผนปฏิบัติการฯ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้ การผลิต ด้านกฎหมาย และมาตรฐาน เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ยังมองไปถึงการนำแบตเตอรี่ไปใช้ในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า  โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ และลม เป็นต้น ซึ่งการนำแบตเตอรี่มาช่วยในระบบจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการนำแบตเตอรี่เข้ามาช่วยสนับสนุนสายส่งให้มีความเสถียรและมีความมั่นคงมากขึ้น