svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

22 ธันวาคม 2565

‘วราวุธ’ เร่งขับเคลื่อน Net Zero กางโรดแมปลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่  COP 28 ที่ดูไบ จี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน กระตุ้นภาคธุรกิจ รับมือกำหนดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นภาคบังคับ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน พร้อมเร่งผลักดันป่าเศรษฐกิจ หวังเพิ่มรายได้ให้ประชาชน สร้างพื้นที่ดูดซับก๊าซ CO2

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

ในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) จัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนในเวทีดังกล่าวอย่างชัดเจนที่จะสนับสนุนในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ฉบับปรับปรุง ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality) ในปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสิทธิเป็นศูนย์ ( Net-zero Emission) ในปี 2065 รวมทั้งยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เป็น 40% บนพื้นฐานของการสนับสนุนจากต่างประเทศ

 

รวมถึงการเพิ่มการผลิต Zero-emission vehicles เป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ภายในปี 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซ CO2 ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2037

 

อีกทั้ง การผลักดันส่งเสริมโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในเวที COP 27 ไปแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ก้าวต่อไปไทยจะต้องเตรียมความพร้อม ก่อนจะก้าวเข้าสู่การประชุม COP 28 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ช่วงปลายปี 2023 จะต้องมีแนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

การจัดทำแผนดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด ที่มีความสำคัญไม่แพ้ระดับประเทศ โดยทางกองทุนสิ่งแวดล้อมได้สนับสนุนเงินงบประมาณระหว่างปี 2566-2567 รวม 90 ล้านบาท มีการเร่งปรับแผนลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขาไม่ว่าจะเป็นพลังงานขนส่งการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  NDC ที่จะลดการปลดปล่อยให้ถึง 40% ภายในปี 2030

 

อีกทั้ง การขับเคลื่อนนโยบายด้าน BCG ที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับเกษตรกรทั่วประเทศหลาย 10 ล้านคน ซึ่งจากนี้ไปภาคการเกษตรจะต้องปรับตัวทำนาวิถีใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai Rice NAMA แบบเปียกสลับแห้ง จะทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำลดลง ใช้พลังงานสูบน้ำเข้านาลดลง เพิ่มผลผลิต 20-30% ลดปล่อยก๊าซมีเทน 70%

 

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS มาใช้เชิงพาณิชย์ ภายในปี 2040 ที่จะต้องปรับปรุงระเบียบกฎหมาย คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ทางภาษี การส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิค เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ที่มีการออกระเบียบเรียบร้อยแล้ว การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากการปลูกต้นไม้ รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในต้นปี 2023

นอกจากนี้ จะจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(กรม Climate Change) ที่จะแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงความตั้งใจ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อรับมือความท้าทายด้าน Climate Change อย่างเต็มรูปแบบ

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

นายวราวุธ ย้ำว่า ความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะจากนี้ไปประเทศไทยจะต้องมีการกำหนด Carbon Footprint ให้เป็นภาคบังคับ การขับเคลื่อนจากนี้ไปทุก 1 ตันของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้น จะต้องมีการสำรวจ และจำกัดการปล่อย การทำธุรกิจ หรือดีลซื้อขายกับต่างประเทศนั้น จะเริ่มมีมาตรการทางภาษีมากขึ้น เริ่มมีการกีดกันเข้ามามากขึ้น ซึ่งกฎหมายอย่าง Climate Change Act จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทาง ว่าภาคเอกชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องไม่เสียเปรียบในการดีลหรือการทำการค้ากับต่างประเทศ

 

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง ว่าแต่ละองค์กรจะมีการจัดการปัญหาอย่างไร จะปรับตัวอย่างไร ทุกภาคส่วนไม่ว่ารัฐหรือเอกชนต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การแก้ไขปัญหากต้องเป็นองคาพยพไปพร้อม ๆ กัน

 

รวมไปถึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคม  องค์การพัฒนาเอกชน(NGO) ประชาชนทุกคน ทุก ๆ ฝ่าย ในทุก ๆ เรื่อง เป็นภาคบังคับที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เชื่อว่าเวลามีไม่มาก แต่ถ้าร่วมมือกันไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

 

นอกจากนี้ ที่สำคัญอีกสิ่ง เป็นเรื่องของการผลักดันการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2037 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมืองอีก 5% ซึ่งป่าเศรษฐกิจขณะนี้มีอยู่ 32-33 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 50 ล้านไร่ เท่ากับว่าวันนี้ยังขาดอีกเกือบ 16 ล้านไร่

 

‘วราวุธ’ กางโรดแมป Net Zero เร่งขับเคลื่อนสู่ COP 28

 

ทั้งนี้ การผลักดันป่าเศรษฐกิจ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ป่าและในเมืองให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ตามพระราชดำริของ องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทาน ความคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ให้ทุกท่าน ได้กิน ได้ใช้ ได้ขาย สามารถรักษาต้นน้ำ รักษาระบบนิเวศ และยังสามารถแปรสภาพออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตได้

 

“ป่าเศรษฐกิจมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าป่าสมบูรณ์ หรือว่าป่าธรรมชาติหลายเท่าตัว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็วกว่า  ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยาง หรือว่าไม้ในเขตป่าเศรษฐกิจที่เป็นไม้โตเร็ว ยิ่งโตเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่านั้น”

 

เมื่อสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ดินถล่ม และอีกหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ที่ล้วนแล้วเกิดมาจากมนุษย์ การที่จะส่งเสริม การปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าเศรษฐกิจ หรือพื้นที่สีเขียวใด จะเป็นการบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฟื้นฟูระบบนิเวศ ได้ในอนาคต