โดนริบมัดจำประมูลทรัพย์ กลับเข้าร่วมประมูลใหม่ได้

09 ก.พ. 2566 | 10:42 น.

กรมบังคับคดี แจงขั้นตอนประมูลทรัพย์ขายทอดตลาด หากผู้ชนะการประมูลไม่มีเงินจ่ายเต็ม โดนริบเงินมัดจำ ยังสามารถกลับเข้าร่วมการประมูลใหม่ได้ ย้ำต้องวางเงินมัดจำเพิ่มจากรอบที่แล้ว

จากกรณีที่ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าตรวจสอบ บริษัท I Thermal บริษัทลูกของ IFEC ที่เข้ามาประมูลซื้อทรัพย์ โรงแรมดาราเทวี ในราคา 3,594 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ทั้งๆที่เคยชนะการประมูลไปแล้วในครั้งแรกแต่ไม่ยอมชำระเงิน จนถูกริบเงินมัดจำ 110 ล้านบาท และเข้าประมูลครั้งที่ 2 แข่งกับบริษัท เมฆสวัสดิ์ (ประเทศไทย) จำกัด จนชนะประมูลในราคามากกว่าครั้งแรก 1,582 ล้านบาท

นายเสกสรร สุขแสง  รองอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงวิธีการประมูลทรัพย์ที่นำมาขายทอดตลาด ว่า ทางกรมบังคับคดี เปิดโอกาสให้สิทธิ์ในการเข้าประมูลของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นเรื่องปกติที่มีการประมูลทรัพย์แล้ว มีการวางมัดจำไว้ แต่ทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารไม่ผ่าน ทำให้ถูกยึดเงินมัดจำ ส่วนจะกลับเข้ามาร่วมประมูลใหม่ เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ โดยทางกรมบังคับคดี ไม่มีอำนาจที่จะไปห้าม ไม่ให้ กลับมาประมูลซ้ำอีก แต่มีหลักเกณฑ์ในกรณีของผู้ที่วางเงินมัดจำแล้วไม่มาจ่ายส่วนที่เหลือ หากเข้ามาร่วมประมูลครั้งใหม่ จะต้องวางเงินมัดจำมากขึ้นจากวงเงินเดิม

ทั้งนี้การขอขยายเวลาการชำระเงินที่ชนะประมูล กรมบังคับคดี มีหลักเกณฑ์ หากผู้ซื้อมีเหตุจำเป็นในการพิจารณาขอสินเชื่อ และหากเขามีหลักฐานจากสถาบัน หรือมีเหตุอื่นที่มีความจำเป็นและมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ มีหนังสือรับรองหรือเอกสารต่างๆจากทางธนาคาร อาจพิจารณาที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ ไม่เกิน 3 เดือน แต่หากผู้ประมูล มีความเห็นต่างออกไปสามารถที่จะใช้ช่องทางในการไปยื่นคำร้องต่อศาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยื่นให้ศาลพิจารณา ใช้ดุลยพินิจแล้วอนุญาตขยายเวลาการชำระเงิน ออกไป 1-2 ครั้ง โดยในส่วนนี้ ถือว่าเลยอำนาจของกรมบังคับคดี แต่เป็นอำนาจของศาลในการที่จะพิจารณาตามคำร้องขอ

รองอธิบดีกรมบังคับคดี ได้กล่าวถึงราคาประมูลโรงแรมดาราเทวี ครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ที่ชนะประมูลในราคา 3.59 พันล้าน มากกว่าครั้งแรก 1,582 ล้านบาท ว่า เรื่องของราคาการขายเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งสินทรัพย์บางอย่างมีการสู้กันถึงราคาที่สูงมาก แล้วก็มีการวางเงินกันจริงจัง ซึ่งบางคดีไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนเข้าประมูลผู้เข้าร่วมมีเงินในการวางหลักประกัน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมบังคับคดี แต่คงไม่สามารถไปกำหนดราคาเพดานได้ว่าจะต้องอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ 

อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูว่า ในวันที่ 13 ก.พ.นี้  บริษัทผู้ชนะการประมูล จะนำเงินส่วนที่เหลือมาจ่ายให้กับกรมบังคับคดี ได้หรือไม่ หากมาชำระครบก็สามารถเดินหน้าตามขั้นตอนปกติ แต่ถ้าชำระไม่ได้หรือไม่ครบก็จะต้องมีการพิจารณาถึงเหตุผล และความจำเป็นอีกครั้ง