27 ธ.ค. 2566 มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลการวัดคะแนนนิยมของพรรคการเมือง เพื่อประเมินความพึงพอใจและการตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ด้วยประเด็น "หากมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันนี้ คุณจะเลือกพรรคใด" ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยสำรวจระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค. 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,168 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 พบว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งสูงสุด 6 อันดับแรก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ย (เฉลี่ยจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตนำมาคำนวนเป็นร้อยละ) จากผลการเลือกตั้ง 2566 และจากการวัดความนิยมครั้งล่าสุด (22-24 ส.ค. 2566) โดยพรรคที่ได้ความนิยมเพิ่มขึ้นไปหาน้อยลงตามลำดับดังนี้
ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลถึงจะยังมีคะแนนนิยมลดลง เมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้ง แต่มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการวัดผลครั้งที่แล้วมากที่สุด สะท้อนถึงการตอบสนองของประชาชนต่อนโยบายและการทำงานของรัฐบาลในเชิงบวกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ถึงจะยังมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้ง แต่มีคะแนนนิยมลดลงเมื่อเทียบกับการวัดผลครั้งที่แล้ว อาจเป็นผลจากปัญหาด้านบุคลากรของพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีคะแนนนิยมลดลงเมื่อเทียบกับการวัดผลครั้งที่แล้วมากที่สุด อาจเป็นผลจากปัญหาภายในพรรคที่มีมาอย่างต่อเนื่องและผลตอบสนองต่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นฯ ยังได้ทำการสำรวจเบื้องต้นในประเด็น “ผลงานใดของรัฐบาลเศรษฐาในรอบ 100 วัน ที่คุณประทับใจมากที่สุด? (เลือกได้สูงสุด 3 ตัวเลือก)” (ระหว่างวันที่ 9-20 ธ.ค. 2566 กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 326 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 90.0) โดยผลงานที่ผู้ตอบแบบสำรวจประทับใจมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ “ลดค่าไฟ” ร้อยละ 25.92 “ลดราคาน้ำมัน” ร้อยละ 18.15 “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ร้อยละ 15.20 “แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ” ร้อยละ 7.04 และ “พักหนี้เกษตรกร” ร้อยละ 5.92
และสำหรับประเด็น “คุณพอใจในผลงานของรัฐบาลเศรษฐาในภาพรวม หรือไม่?” ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า “พอใจมาก” ร้อยละ 23.14 “ค่อนข้างพอใจ” ร้อยละ 20.95 “ค่อนข้างไม่พอใจ” ร้อยละ 27.11 “ไม่พอใจมาก” ร้อยละ 22.69 และ “ไม่รู้/ไม่แน่ใจ” ร้อยละ 6.10
ทั้งนี้ระบบได้เปิดให้ผู้ตอบแบบสำรวจพิมพ์ตอบอย่างอิสระถึงประเด็นที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล โดยระบบ AI สรุปประเด็นได้คือ อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญของการจัดการปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน, สร้างโอกาสและช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส, เรียกร้องให้มีการปรับปรุงในด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนา, อยากให้รัฐบาลเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงแสดงความหวังในการทำงานและการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล