กรมราชทัณฑ์ล็อก 12 รายชื่อสามารถเข้าเยี่ยม“ทักษิณ”ที่รพ.ตำรวจได้

30 ส.ค. 2566 | 08:15 น.

กรมราชทัณฑ์เปิด 12 รายชื่อบุคคลที่สามารถเข้าเยี่ยม “ทักษิณ ชินวัตร” ที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตามระเบียบ เป็นเครือญาติ และ ทนาย 2 คน

วันนี้(30 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ ได้สรุป 12 รายชื่อบุคคลที่สามารถเข้าเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ได้ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ประกอบด้วย

1. รายชื่อญาตินายทักษิณ 10 ชื่อ ที่แจ้งไว้กับกรมราชทัณฑ์

1.1) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวและหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

1.3) น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ ลูกสาวกับกรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม

1.4) นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น และสามี น.ส.พินทองทา

1.5) นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย

1.2) นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามีของ น.ส.แพทองธาร

1.6) น.ส.ณัฐฐิญา ปวงคำ ภรรยาของนายพานทองแท้

1.7) - 1.10) หลานนายทักษิณ (ลูก ๆ ของลูกนายทักษิณ)

2. รายชื่อ ทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความประจำตัวนายทักษิณ ชินวัตร

2.1) ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี

2.2) ทนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง

ก่อนหน้านี้ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ ออกมาเปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 23.59 น. ของวันที่ 22 ส.ค.2566 พัศดีเวรได้รายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แดน 7 อยู่ระหว่างการกักโรค มีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ 

พยาบาลเวรเรือนจำ ได้ติดต่อขอคำแนะนำกับแพทย์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคหัวใจ

เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิต จะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที

หลังจากนั้น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งได้รับตัวไว้เพื่อทำการบำบัดรักษา เมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเรือนจำได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุม ตามระเบียบขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์