ชีวิต “ทักษิณ ชินวัตร” จาก ตาดูดาว เท้าติดดิน สู่“กลับบ้าน” ร่วมหายใจกับคนไทย

21 ส.ค. 2566 | 19:00 น.

ย้อนเส้นทางชีวิต “ทักษิณ ชินวัตร” จาก จาก ตาดูดาว เท้าติดดิน สู่การ “กลับบ้าน” ขอร่วมอากาศหายใจกับคนไทย ตั้งเเต่ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง จนต้องพลัดถิ่น

21 ส.ค. 2566 “พรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนนะครับ” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ทวิตเตอร์ ถึงการเดินทางกลับประเทศในวันที่ 22 ส.ค. 2566  

 

 

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2551 “ทักษิณ ชินวัตร” เดินออกมาจากอาคารผู้โดยสารขาเข้า สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วก้ม “กราบแผ่นดิน” เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่จารึกถึงการกลับไทยครั้งแรกในรอบ 1 ปี 5 เดือน หลังถูกยึดอำนาจ วันที่ 19 ก.ย. 2549

การกลับมาของทักษิณครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าเมื่อเครื่องบินเจ็ทแลนดิ้งที่สนามบินดอนเมือง เวลา 09.00 น. ภาพในวันนั้นจะถูกฉายซ้ำอีกหรือไม่ 

ชีวิต “ทักษิณ ชินวัตร” จาก ตาดูดาว เท้าติดดิน สู่“กลับบ้าน” ร่วมหายใจกับคนไทย

ชีวิตของ “ทักษิณ ชิณวัตร” ก่อนสู่การเมือง

ทักษิณ ชินวัตร เกิดวันที่ 26 กรกฎาคม 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายบุญเลิศ ชินวัตร และ นางยินดี ชินวัตร (นามสกุลเดิม ระมิงค์วงศ์) เขาอยู่ในครอบครัวนักธุรกิจระดับกลางในจังหวัดเชียงใหม่ มีกิจการค้าขายมากมาย เช่น ผ้าไหม กิจการรถเมล์ โรงภาพยนตร์ ร้านขายมอเตอร์ไซค์ สวนส้ม ฯลฯ อดีตบิดาเคยเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2512 - 2519 ซึ่งนายบุญเลิศ ถือเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันสำคัญให้ทักษิณสนใจงานทางการเมือง

"ทักษิณ"ได้ชื่อ "เเม้ว" ได้แต่ใดมา

ทักษิณ ชินวัตร มีชื่อเล่นว่า น้อย หลังสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร (นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10) เพื่อนร่วมรุ่น โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ได้ตั้งฉายาให้เขาว่า "แม้ว" เเละทำให้ทักษิณได้ชื่อ “แม้ว”นับแต่นั้นมา

หลังจบโรงเรียนเตรียมทหารในปี 2512 ทักษิณ เลือกศึกษาต่อในเหล่าตำรวจ หรือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26) และสำเร็จการศึกษาในปี 2516 โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น

ชีวิตการทำงาน

เมื่อเข้ารับราชการตำรวจได้ระยะหนึ่ง ทักษิณ ได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงาน กพ. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา ในสาขา Criminal Justice ของ Eastern Kentucy University และต่อมา ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดิมจาก Sam Houston State University สหรัฐอเมริกา ระหว่างนี้ศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้กับงานในกรมตำรวจเเละธุรกิจ เเละได้เข้าพิธีวิวาห์กับคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ 

จากข้อมูลพบว่า ทักษิณ เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต่อด้วยสารวัตรปราบปรามประจำสน.พระราชวัง เเละนายตำรวจติดตามรัฐมนตรี (นายปรีดา พัฒนถาบุตร)  รองผู้กำกับศูนย์ประมวลข่าวสาร ฯลฯ  จนถึงปี พ.ศ. 2527 ได้ดำรงตำแหน่งพันตำรวจโท ตำแหน่งสุดท้ายคือ รองผู้กำกับการนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

เบนเข็มชีวิตสู่วงการธุรกิจ 

ด้วยวิธีคิดกล้าได้กล้าเสียเเบบนักธุรกิจ รวมทั้งกล้าตัดสินใจที่ซึมซับมาจากผู้เป็นพ่อ ทักษิณเริ่มธุรกิจแรก คือ จัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ” ในปี 2525 ขยายกิจการเป็น “บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด” ได้ใช้พื้นฐานความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้ศึกษามาในระดับปริญญาเอก ความเข้าใจระบบราชการ มาดำเนินธุรกิจขายเเละบริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แก่หน่วยงานราชการ พัฒนาธุรกิจจนเปิดบริษัทย่อยเพื่อดูแลธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น เรียกได้ว่าในยุคนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จักธุรกิจเครือทักษิณ กินรวบครบด้านธุรกิจสื่สาร ภายใต้สโลแกน "ตาดูดาว เท้าติดดิน"

เส้นทางสายการเมือง "ทักษิณ"

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือ "มหาจำลอง" หัวหน้าพรรคพลังธรรมในขณะนั้น เชิญทักษิณมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 ในสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เรียกได้ว่าสร้างความฮือให้กับเเวดวงการเมืองเป็นอย่างมาก  ว่ากันว่าวันที่มหาจำลองไปเชิญทักษิณมาเล่นการเมือง เขาใส่ชุดม่อฮ่อม กางเกงขาก๊วย ขึ้นไปที่ตึกชินวัตร แถมยังใส่รองเท้าแตะที่ตัดมาจากยางรถยนต์อีกด้วย โดยตอนที่มาถึงก็ขึ้นไปพบทักษิณที่ห้องทำงาน โดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า จึงทำการเทียบเชิญเพราะต้องการให้มาช่วยบ้านเมือง ต้องการความดี เด่น ดัง ในตัวทักษิณเท่านั้นนะ ไม่ต้องการอย่างอื่นเลย โดยบอกว่าจะเสนอให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ 

ผ่านไป 4-5 วัน ก็ได้รับคำตอบ "ตกลงพี่ ได้หารือกับครอบครัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว"

เเต่เพียง 101 วันของตำเเหน่ง ก็ต้องลาออกเนื่องจากรัฐธรรมนูญขณะนั้น ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2538 ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคมในปีเดียวกัน มีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ในเขตดังกล่าว ครั้งนั้นพรรคพลังธรรมได้เก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯจำนวน 23 ที่นั่ง ทักษิณ จึงได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านการจราจรและระบบขนส่งมวลชนในสมัยรัฐบาลของ นายบรรหาร ศิลปอาชา เเละได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบ  ประสานโครงการระบบขนส่งมวลชนให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างสมบูรณ์ขึ้น กระทั่ง ทักษิณ ตัดสินใจลาออกจากการร่วมรัฐบาล และลาออกจากพรรคพลังธรรม 

ปี 2540 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทักษิณกลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่  แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกและนายชวน  ได้รับการสนับสนุนให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนและอยู่บริหารประเทศต่อจนครบวาระ และประกาศยุบสภาฯ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2543

กำเนิดพรรคไทยรักไทย

ในปี พ.ศ. 2541 ทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย"  หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 20 (เมื่อวันที่ 6 มกราคม และเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 29 มกราคม 2544) พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง คว้าได้ที่นั่งในสภาฯ เป็นลำดับที่ 1 จำนวน 248 ที่นั่ง ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค จึงได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ

นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 โอกาสโชว์ฝีมือ ครบวาระ 4 ปี 

ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 มีนายชวน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ระหว่างการบริหารประเทศมีประเด็นทางการเมืองก็คือ "คดีการปกปิดทรัพย์สินและหนี้สิน" จากการไม่ยอมแจ้งการถือหุ้นของคนรับใช้ คนขับรถ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมูลค่ากว่าสี่พันล้านบาท สุดท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติ 8 ต่อ 7 ให้ ทักษิณ พ้นจากความผิด

ทักษิณ บริหารประเทศ ได้ผลักดันโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของพรรคและของรัฐบาล รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ  ผลงานโดดเด่นที่ประชาชนยอมรับ  เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) เร่งให้รัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จัดตั้งธนาคารประชาชน  กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทดลองใช้การบริหารจัดการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรการ (CEO) ใน 5 จังหวัดนำร่อง โครงการบ้านเอื้ออาทร

แต่ ทักษิณ ชินวัตร ก็มีโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสังคม นโยบายการทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดอย่างรุนแรงภายในระยะเวลา 3 เดือน ปราบปรามผู้มีอิทธิพล โครงการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว (หวยบนดิน) โครงการแท็กซี่เอื้ออาทร 

นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 เเละจุดสิ้นสุด 

ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ทำให้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ ได้ที่นั่งเข้าสู่สภาฯ ถึง 377 ที่นั่ง ทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาล ทักษิณได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ในวันที่ 9 มีนาคม 2548 โดยผลงานของรัฐบาลในสมัยที่ 2 มีชิ้นที่ดำเนินการต่อเนื่องจากสมัยที่แล้ว เเละผลงานใหม่ที่โดดเด่น

กระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เกิดกระแสสังคมไม่ยอมรับอย่างรุนแรง จนมีการกดดันจากหลายฝ่าย มีชุมนุมปราศรัยเพื่อขับไล่ทักษิณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2547 มีการรวมกลุ่มชื่อว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" นำไปสู่ความขัดแย้ง สุดท้าย ทักษิณประกาศยุบสภาฯ ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการต่อไป

ต่อมาการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จัดขึ้นใหม่ ในช่วงเดือนเมษายน 2549 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน) ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคดีที่มีผู้ร้องเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว หลังการพิจารณาจึงประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลภายใต้การรักษาการนายกรัฐมนตรีของทักษิณ ได้ถูกยึดอำนาจ โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ ถือเป็นจุดสิ้นสุดในฐานะนายกรัฐมนตรีของ ทักษิณ ชินวัตร