ตลาดรถยนต์ไทยผ่าน 4 เดือนแรกของปี (ม.ค.-เม.ย. 67) มียอดขายกว่า 2.1 แสนคัน ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทว่ากลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า EV ในเซกเมนต์รถยนต์นั่ง มีตัวเลขจดทะเบียนถึง 26,377 คัน เพิ่มขึ้น 41.8% เมื่อเทียบกับยอด 4 เดือนปีที่แล้ว (18,599 คัน)
โดยได้อานิสงส์ของเดือนมกราคม 2567 ที่ตัวเลขพุ่งไป 13,653 คัน จากการเร่งขายระบายสต๊อกรถนำเข้าตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ตามโครงการ EV 3.0 ส่งผลให้ยอดรวม 4 เดือนแรกของปี เติบโตระดับ 41.8%
นั่นหมายความว่า ยอดขาย EV ในเดือนมกราคม 2567 ไม่ได้สะท้อนภาพการซื้อ-ขายในตลาดที่แท้จริง แถมยังเป็นการใช้ดีมานด์ล่วงหน้าไปแล้วระดับหนึ่ง ขณะที่ยอดจดทะเบียนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2567 จะพบตัวเลขลดลงมา หรือทำได้เฉลี่ย 4,000 คัน ต่อเดือน
เมื่อบวกกับสภาพเศรษฐกิจซบซึม ไฟแนนซ์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งตลาดรวมยังปรับเป้าขายลงมาเหลือไม่ถึง 7.5 แสนคัน ดังนั้นกลุ่ม EV ที่วาดฝันว่า ปีนี้ยอดรวมทุกยี่ห้อจะทะลุ 1.2 แสนคัน (ตัวเลขที่หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คาดการณ์ และประกาศ ไว้ช่วงต้นปี) อาจจะไปถึงได้ยาก
ส่วนเป้าหมายของแต่ละค่ายรถยนต์จีน ปีนี้ต่างมองสูง หวังไกลกันถ้วนหน้า (ดูตารางประกอบ) อย่าง บีวายดี อยากขายมากกว่า 50,000 คัน หรือ ฉางอาน ตั้งเป้าไว้ถึง 20,000-30,000 คัน
ปัจจุบัน ฉางอาน นำเข้า EV จากจีนมาทำตลาดผ่านแบรนด์ Deepal และ Lumin ก่อนที่โรงงานผลิต จ.ระยอง จะพร้อมไตรมาสแรกของปี 2568 ส่วนบีวายดีเตรียมผลิต Dolphin ที่โรงงาน จ.ระยอง กลางปีนี้ และตามมาด้วยรถปลั๊ก-อินไฮบริดอย่าง BYD Seal U ช่วงปลายปี 2567
นอกจากแบรนด์จีนกลุ่มนี้ ที่หวังยอดขายระดับ 2-5 หมื่นคันต่อปีแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแบรนด์รถจีนรายใหม่ๆ เตรียมเปิดตัวพร้อมทำตลาดอย่างเป็นทางการ ทั้ง XPENG ZEEKR และ OMODA & JAECOO ในเครือเชอรี่
เหนืออื่นใด ยังต้องจับตา 2 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ทั้ง BAIC ที่มีกระแสข่าวว่า ทุนใหญ่จากรัฐบาลปักกิ่ง อาจจะเลือกแบรนด์ใหม่อย่าง ARCFOX ที่มีความทันสมัย และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ มาเปิดตลาดในไทย รวมถึง หงฉี (HONGQI) แบรนด์หรูในเครือ FAW บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ของจีน ก็เตรียมแต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์ในไทย พร้อมประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการช่วงปลายปีนี้
หงฉี ถือเป็นรถยนต์ระดับพรีเมี่ยม มีฉายาว่า โรลส์-รอยซ์จีน และยังถูกใช้เป็นรถประจำตำแหน่งของบรรดาประธานาธิบดีจีน ล่าสุดการเดินทางมาเยือนไทยของนายสี จิ้นผิง ในการประชุม APEC 2022 ต้องขนส่งรถมาเองจากแผ่นดินใหญ่ เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางตลอดทั้งภารกิจ โดยเป็นรถหุ้มเกราะ สั่งทำพิเศษ จากพื้นฐาน HONGQI H9
สำหรับหงฉี เป็นรถยนต์ของบริษัท FAW ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1958 โดยชื่อ HONGQI มีความหมายว่า ธงแดง ที่ผ่านมาถูกใช้เป็นยานพาหนะผู้นำจีน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ และในปี 2018 หงฉี เริ่มส่งออกไปทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก