สกู๊ปพิเศษ: “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” กับเหรียญอีกด้านของคดีเผาบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย

31 มี.ค. 2564 | 13:05 น.

สังคมกลับมาให้ความสนใจ “คดีเผาบ้านของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย” เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลัง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ถูกให้ออกจากราชการ ฐานเศรษฐกิจจะพาย้อนกลับไป เมื่อปี 2554 “ยุทธการตะนาวศรี”

ฝันร้ายของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย คือเจ้าหน้าที่อุทยานขึ้นไปอพยพผู้คนลงมาจากจุดที่เรียกว่าบางกลอยบน -ใจแผ่นดิน เผาสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินอื่น ๆ ของนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ พ่อเฒ่าชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และชาวบ้านอีกหลายราย ในปี 2554  จาก "ยุทธการตะนาวศรี" นำโดย "ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" หัวหน้าอุทยานในเวลานั้น  เป็นเหตุ ณ วันนี้นายชัยวัฒน์ ถูกให้ออกจากราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ให้ลงโทษ 

ยุทธการเอาคนออกจากป่าต้นน้ำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเริ่มตั้งแต่ปี 2535  ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง รัฐได้เจรจาและอพยพชาวบ้านจากชุมชนใจแผ่นดิน ย้ายมาอยู่ด้านล่างติดกับบ้านโป่งลึกที่มีอยู่เดิม เรียกว่าบ้านโป่งลึก-บางกลอย จัดสรรที่ดินทำกินส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ แต่ประสบปัญหาที่ดินทำกินไม่เพียงพอจนทำให้หลายชีวิตต้องเดินทางกลับใจแผ่นดิน

สภาพผืนป่าแก่งกระจาน ปี 2554 ถูกยืนยันจากนายชัยวัฒน์ว่ามีชาวบ้านบางส่วนได้เข้าไปแผ้วถาง เผา ทำลายป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน พบแปลงกัญชาปลูกแซมต้นข้าว ทั้งยังพบซากสัตว์ป่าและอาวุธสงคราม ควบคู่ไปกับการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ต้องเจรจา และผลักดันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่างเช่นเดิม  

ปฏิบัติการอพยพกะเหรี่ยงบางกลอยบน ขั้นเด็ดขาดจึงถูกกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม พ.ศ.2554

ชมคลิป:

“ผมขออธิบายยุทธการครั้งที่เป็นต้นเหตุก็คือครั้งที่ 4ตั้งแต่วันที่ 5-9 เรามีเป้าหมายทั้งหมด 24 จุด ใน 24 จุด เราจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ มีฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ป.ป.ป   พล.ร 9 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่มีเป้าหมาย ตรงนี้ปลูกกัญชา ตรงนี้มีการล่าสัตว์ ครั้งแรกขอดำเนินการตามเป้าหมายนี้ทั้งหมด 7 จุด มีใจแผ่นดินสอง 2 จุด  บางกลอยบน 5 จุด แต่ละชุดแต่ละทีมเข้าไปเขียนรายงานข่าวออกมาว่าเพิงพักที่ทำลายไม่ได้เข้าไปทำลายแต่มีการเผาทำลายก่อนหน้านั้นแล้วหมายความว่าผู้กระทำผิด ก็รู้ว่าผิด ส่วนยาเสพติดเราก็ได้ตรวจยึดมาทุกแปลง นี่เป็นเหตุการณ์ในปี 2554 จนโยงไปว่ายุทธการที่ทำในช่วงนั้นกับฟ้องร้องครั้งนี้กับปู่คออี้ มันคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ คนละภารกิจ ซึ่งไม่เกี่ยวกัน”

การฟ้องร้องที่เกิดขึ้น นายชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลโดยเฉพาะภาพถ่ายในจุดที่มีการปฎิบัติงานกับจุดที่นำมาฟ้องร้องไม่ใช่จุดเดียวกัน

“ศาลก็ถามในเอกสารว่าใน 7 จุดที่ปฏิบัติในแผนงาน คุณยืนยันใช่ไหมว่า เข้าไปรื้อถอนทำลายและมีการเผา ผมยืนยันว่าใน 7 จุดที่เราทำมีเป้าหมาย เราทำแบบนั้นจริง แต่เราไม่เข้าใจว่าใน 7 จุด ที่ผู้ฟ้องเอาไปรวมด้วยซึ่งหมายถึงภาพถ่าย ทำให้ศาลเข้าใจว่ามันเป็นจุดเดียวกัน ซึ่ง 7 จุด เมื่อเรามาตรวจพบมันว่าเป็นแค่แถวห้วยสามแพ่งไม่ใช่ใจแผ่นดินกับบางกลอยบน”

มุมมองนายชัยวัฒน์ที่มีต่อชาวกะเหรี่ยงในพื้นเป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะต้องเผชิญกับปัญหาตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ มีความจำเป็นต้องผลักดันให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ เพราะเป็นเขตอุทยาน การอยู่อาศัยจึงผิดกฏหมาย สังคมถึงขั้นตั้งคำถามว่า การเข้าไปรื้อถอน เผาทำลาย เกิดจากความรู้สึกส่วนตัวหรือไม่

“ผมไม่เคยจับชาวปกากะญอซักคนเดียวที่บุกรุกป่า วันหนึ่งผมไปพบกัญชาเท่านั้นเอง ผมบอกว่าคุณทำแบบนี้กับผมไม่ได้ ทำป่าไม่ได้ ผมไปเจอช้างถูกตัดเอางา เลียงผาถูกยิง เสือโคร่ง เอาไปขาย นี่คือปัญหาที่มันเกิดขึ้นเราถึงรู้ว่าคนพวกนี้เข้ามาเพื่อที่จะหาเงินไปทำบัตรประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมทั้งสภาทนายความเขียนในการฟ้องผมว่าไปทำยุทธการในครั้งที่ 4 ไปเผาทำลายเพิงพักทำลายบ้านของ ประชาชน 98 หลัง นี่เป็นการเขียนและจูงใจเป็นการสร้างเรื่องราว

หลังจากนี้คงต้องติดตามการเดินหน้าต่อสู้คดีของนายชัยวัฒน์ ที่ยืนยันว่าจะสู้เพื่อศักดิ์ศรีในฐานะผู้พิทักษ์ป่า  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปูม! “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” จาก"วีรบุรุษแก่งกระจาน" ถูกปลดพ้นราชการ 

“ชัยวัฒน์”ปฏิเสธทุกข้อหา ขอสู้คดีชั้นศาล

“ชัยวัฒน์”มอบตัวกับ DSI สู้คดี“บิลลี่”