ร้องส่งศาลรธน.วินิจฉัยแก้ กฎหมายทำแท้งใหม่ ส่อขัดรธน.

04 ก.พ. 2564 | 07:35 น.

ระอุ “ศรีสุวรรณ-สูตินรีแพทย์” ยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรธน.วินิจฉัยแก้กม.ทำแท้งใหม่ ชี้ ทำให้เกิดการทำแท้งโดยอิสระ ยืมมือหมอฆ่าคนโดยไม่มีความผิด เชื่อ ใช้ระบบคุมกำเนิดคุ้มกว่า ยัน ไม่ได้คัดค้านขอให้ทบทวน

4 กุมภาพันธ์ 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 305 (4) และ305(5) ที่เกี่ยวข้องกับการให้หญิงสามารถทำแท้งได้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ประกอบมาตรา 4 มาตรา 77 หรือไม่

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สูตินารีแพทย์มีหน้าที่ในการช่วยชีวิตคนแต่การออกกฎหมายให้ฆ่าคนหรือทำแท้งทารก แม้ถูกมองว่ายังไม่มีสภาพเป็นคน แต่การที่ทารกมีอายุ 12 สัปดาห์แล้วก็ถือว่าเป็นอีกชีวิตหนึ่ง เพราะทารกที่มีอายุครรภ์ 12-18 สัปดาห์มีการเต้นของหัวใจ การไปกำหนดให้ทำแท้งได้กรณีไม่เกิน 12 สัปดาห์ถือว่า กระทบต่อจิตใจ เหมือนให้ฆ่าคนโดยไม่มีความผิด และรัฐธรรมนูญก็ให้ความคุ้มครองชีวิตของประชาชน ประกอบกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่เคยรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะความคิดเห็นทางการแพทย์ จึงขอให้ผู้ตรวจฯส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่ส่งก็จะดำเนินการยื่นร้องตรงต่อรัฐธรรมนูญเอง เพราะมีข่าวกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านการแก้ไขจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ซึ่งมีผลบังคับใช้ก็จะเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขต่อไป

 

ด้านพญ.ชัญวลี ศรีสุโข  สูตินารีแพทย์  ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายฉบับนี้ เปิดให้ผู้หญิงท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ โดยไม่มีการถามเหตุผลใดๆทั้งสิ้น ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การทำแท้งต้องมีเหตุผล โดยผู้หญิงนั้นต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอ และต้องเป็นทางเลือกสุดท้าย  กรณีนี้กระทบกับความรู้สึกของสูตินารีแพทย์ เพราะอายุครรภ์ 12 สัปดาห์  ชีวิตเริ่มต้นแล้วเด็กมีพัฒนาการ ไม่ใช่ก้อนเลือดที่จะเอาออกได้ได้ง่าย แพทย์ทั่วไปในโรงพยาบาลชุมชนประสบการณ์ก็อาจจะไม่เพียงพอ

 

คนที่ไม่มีประสบการณ์บอกง่ายออกหมดให้มาเป็นสูตินารีแพทย์ การทำแท้ง 12 สัปดาห์ ไม่ได้ออกหมด มีส่วนหนึ่งที่ตกค้างต้องมาขูดหรือดูดมดลูก แล้วยังตามด้วยการอักเสบ ติดเชื้อ แม้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่แพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่า จะไมได้รับอันตราย ทุกขพลภาพหรือถึงแก่ชีวิต เคยมีที่สูตินารีแพทย์ทำแท้งแล้วเกิดกรณีมดลูกตีบตันไม่สามารถมีลูกได้อีก ดังนั้น การทำแท้ง แม้อายุครรภ์จะต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย พ.ญ.ชัญวลี กล่าวและว่า ไม่ได้ปฏิเสธการทำแท้ง แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมของไทยอย่างง่ายๆ โดยการเซย์เยส 2 ครั้ง ไม่ต้องถามเหตุผล เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายแล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ โอเคหรือเปล่า สรุปว่าไม่ใช่แค่หมอสูติ แต่เป็นประชาชนคนไทย ผู้นับถือทุกศาสนา ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต”         

พญ.สุพรรณี คูณแสง แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสูตินรีแพทย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากกฎหมายทำแท้งใหม่มีหลายข้อ ดังนี้

 

1.การเข้าถึงการทำแท้ง โดยไม่มีหลักเกณฑ์กำหนด อาจส่งผลให้ความระมัดระวังต่อการคุมกำเนิดหรือการตั้งใจในการคุมกำเนิดลดลง

2.สถิติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และสถิติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น

3.สถิติภาวะจิตใจของสตรีกลุ่มนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

4.สถิติภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่อชีวิตมารดาเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ที่ทำแท้ง

5.ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้รับผลกระทบ

6.งบประมาณที่รัฐต้องไปดูแลเรื่องทำแท้งนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณในการคุมกำเนิดจะถูกกว่างบประมาณในการทำแท้ง 10 เท่า

7.มโนธรรมของสังคม  ดังนั้นไม่เป็นผลดีต่อใครหากกฎหมายมีผลบังคับใช้

 

กฎหมายดังกล่าวแม้จะเป็นการบรรเทาปัญหาของมารดาที่จะไปทำแท้ง แต่จะสร้างปัญหาใหม่ในวงกว้างทั่วประเทศ ดิฉันมองว่ากลุ่มเยาวชนเป็นเหยื่อของกฎหมายฉบับนี้ กลุ่มวัยรุ่นที่คิดไม่ออก ตกใจในการตั้งครรภ์ แทนที่รัฐจะดูแลประคองครรภ์ของเขาแต่กลับเปิดประตูให้เขาไปทำผิดอันเนื่องมาจากความผิดพลาดของเขา ซึ่งเป็นการทำผิดซ้ำรอบ 2 โดยการทำแท้งยุติครรภ์ซึ่งจะมีผลต่อจิตใจของเขาในระยะยาว

 

อยากเสนอว่า รัฐควรหาทางเลือกที่ดีกว่านี้ให้กับสตรีหรือเยาวชนที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์ เพราะการทำแท้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ควรจะแก้ที่ต้นเหตุ โดยระบบการทำแท้งของประเทศไทยควรดีกว่านี้  และควรสร้างการมีส่วนรวมของฝ่ายชาย เช่นในต่างประเทศจะมีระบบการส่งเสียค่าเลี้ยงดูเมื่อมีลูกแล้ว เรายังไม่ได้สร้างระบบนี้ขึ้นมา ระบบเครดิตจะไม่สามารถกู้เงินได้ รวมถึงใบขับขี่ก็ต้องถูกยึด นอกจากนี้ ถ้ายังไม่รับผิดชอบก็จะไปสู่คดีอาญาของผู้ชาย ดังนั้น ถ้าฝ่ายชายรู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าก็จะมีการร่วมรับผิดชอบคุมกำเนิด  

 

พญ.เชิดชู  อริยศรีวัฒนา อดีตหมอเด็ก กรรมการแพทย์สภา กล่าวว่า ลูกไม่ใช่ภาระแต่เป็นสมบัติของพ่อแม่และครอบครัว เราเข้าใจว่า มีคนส่วนหนึ่งตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่มีความพร้อม แล้วลักลอบทำแท้ง โดยจะเห็นว่า มีข่าวพบศพเด็กที่วัด ที่ผ่านมาความตั้งใจของแพทย์สภาที่อยากให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องทำเพื่อสุขภาพ อนามัยของมารดาและทารก นั่นคือ จะต้องมีการให้คำปรึกษาก่อน แต่กลายเป็นว่ากฎหมายที่ออกมาเพียงอายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ ถ้าอยากทำแท้งก็ทำได้ซึ่งไม่ถูกต้อง และไม่มีประเทศไหนที่ให้ทำแท้งได้โดยเสรี

 

ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ในมาตรา 305 ยังให้อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ก็ทำแท้งได้ ซึ่ง 20 สัปดาห์ถือว่า ผ่านมาครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว เด็กก็มีชีวิต หัวใจเต้น มีอวัยวะเพศ เครื่องไหวดูดนิ้วได้แล้ว แล้วเราจะให้ทำแท้งเพียงเพราะพ่อแม่ไม่รับผิดชอบ แล้วมาบังคับให้หมอทำ แบบนี้ไม่เห็นด้วย

 

การจะให้ทำแท้งจะมีก็ได้แต่ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล นอกจากต้องเป็นการตัดสินของพ่อแม่แล้ว ต้องเป็นการตัดสินใจของครอบครัวด้วย เมื่อก่อนประณามผู้หญิงท้องไม่พร้อม  ว่าเด็กที่เกิดมาเป็นมารหัวขน ค่านิยมเป็นอย่างนี้ ทำให้หญิงที่ท้องแล้วไม่มีสามีอับอาย หลบซ่อน  แต่ในต่างประเทศที่เราเดินตามเขาอย่างสหรัฐ เด็กที่เกิดในลักษณะนี้จะมีกลุ่มแพทย์ให้คำปรึกษา มีศูนย์รับลี้ยงเด็ก ให้คำแนะนำว่าต่อไปจะต้องป้องกันอย่างไร ไม่จำเป็นต้องพูดถึงคุณธรรม จริยธรรมทางศาสนา เพราะหลายศาสนาก็ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง”  พญ.เชิดชู  กล่าวและว่าเราไม่ได้คัดค้านอย่างสุดโต่ง เข้าใจว่า บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องทำแต่อยากให้ทบทวนให้การทำแท้งเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล  มีจริยธรรม มโนธรรม  และประกอบการตัดสินใจของแพทย์ “ 

 

ขณะที่ พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่าจะเร่งสรุปคำร้องและข้อเท็จจริงเพื่อเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดร่างกฎหมาย “ทำแท้ง” ภายใต้ 4 เงื่อนไขจำเป็น ไม่ต้องรับโทษ

หนุน กฎหมายทำแท้ง จี้ ถกปม “สิทธิเสรีภาพ-อายุครรภ์”

สภาไฟเขียว หญิงท้องไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย

ครม.เห็นชอบแก้ก.ม.อาญา ให้หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้

ศาลรธน.ยังไม่รับพิจารณาแก้รธน.เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง