5 ธ.ค. วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวง ร.9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

05 ธ.ค. 2566 | 00:50 น.

ในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 ใจความสำคัญว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ (ร.10) มีพระราชโองการให้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญของประเทศ 3 วัน คือ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 พระราชบิดา วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

 

วันพ่อแห่งชาติ ของประเทศไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา เป็นผู้คิดริเริ่มกำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเป็น วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงพสกนิกร ตลอดพระชนม์ชีพทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติและประชาชนของพระองค์

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี จึงเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" เพื่อเทิดทูนพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 และให้ความสำคัญกับบทบาทของ “พ่อ” ที่มีต่อสถาบันครอบครัวและสังคมไทย โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดวันพ่อแห่งชาติให้เป็นวันหยุดราชการประจำปีในประเทศไทย

5 ธันวาคม "วันพ่อแห่งชาติ"

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ดอก "พุทธรักษา" เป็นดอกไม้สีเหลืองประจำวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทยด้วย ดอกไม้ชนิดนี้ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ เนื่องจากมีสีเหลืองตรงกับสีวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 (วันจันทร์) อีกประการหนึ่งคือ ชาวพุทธเชื่อว่า ดอกพุทธรักษาคือดอกไม้มงคล หมายถึงพระพุทธเจ้าปกป้องรักษา สอดคล้องกับชื่อของดอก “พุทธรักษา”

ส่วน “วันชาติไทย” ที่ในอดีตตรงกับวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีนั้น ยึดใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2463 จนกระทั่งถึงปี 2481 รัฐบาลในยุคสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันชาติไทย โดยกำหนดให้วันดังกล่าว เป็นวันหยุดของประเทศไทยด้วย แต่ต่อมาในปีพ.ศ. 2503 รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ให้แทนที่ “วันชาติไทย” ด้วย “วันเฉลิมฉลองของชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นวันพระบรมราชสมภพของในหลวง ร. 9 เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการรวมจิตใจของคนในชาติร่วมกัน

พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2559 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 โปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด

ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2560 รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 มีใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) มีพระราชโองการให้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 พระราชบิดา เป็นวันสำคัญของประเทศ 3 วัน คือ วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2560 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตระหนักถึงความสำคัญของวันที่ 5 ธันวาคม

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย

 

กิจกรรมเนื่องในวันที่ 5 ธันวาคมปีนี้

ในส่วนของกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญ 5 ธ.ค.ปีนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในนามรัฐบาลดำเนินการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 เอาไว้ ดังนี้

  1. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล ในอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 เวลา 07.30 น. ประกอบด้วย ในส่วนกลาง จัดพิธี ณ ท้องสนามหลวง พระสงฆ์ จำนวน 189 รูป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีพร้อมภริยา ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
  2. จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 ประกอบด้วย ในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลพิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับในส่วนกลาง สำนักพระราชวังจะดำเนินการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะดำเนินการจัดพิธีเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
  3. การเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานที่เวทีการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ทั้งในส่วนภูมิภาคและในต่างประเทศ
  4. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดำเนินการเสนอที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาให้วัดทุกวัดในประเทศไทยจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาถวายพระราชกุศล ในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม 2566 สำหรับวัดไทยในต่างประเทศให้พิจารณาการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
  5. จัดทำสารคดีโทรทัศน์น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในนามคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อเผยแพร่ในช่วงวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
  6. จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และบำเพ็ญสาธารณกุศล ในเดือนธันวาคม 2566 ตามความเหมาะสม โดยประสานงานกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน และสำนักงานจิตอาสาภาครัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี

ในการนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแสดงความจงรักภักดี และร่วมจัดกิจกรรมให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน จัดทำคำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจเพื่อเผยแพร่ ทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของหน่วยงาน ดำเนินการตลอดเดือนธันวาคม 2566

ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม,รัฐบาลไทย, มิวเซียมสยาม, กรมประชาสัมพันธ์