หุ้นราคาถูก เป็นเพียงกับดักทางมูลค่าหรือไม่

23 พ.ค. 2565 | 22:05 น.

ราคาหุ้นที่นักลงทุนยอมจ่ายในวันนี้ เป็นระดับราคาที่คิดว่าถูกที่สุด สำหรับเพื่อสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่เห็นว่าถูก ณ ขณะนั้น อาจยังไม่ใช่จุดที่น่าสนใจเพราะยังเป็นราคาแพงเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริง

ด้วยปัจจัยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลก และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่จบ จึงประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

เมื่อดัชนีหุ้นได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยง ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้ก็มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ เพราะมองว่า “ราคาหุ้นอยู่ในระดับต่ำแล้ว” ขณะที่อีกกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าราคาหุ้นที่ปรับลดลง “ถูกหรือไม่” หรือว่าราคาหุ้นที่เห็น “เป็นเพียงกับดักทางมูลค่า” หากตัดสินใจเข้าซื้ออาจเกิดความผิดพลาด ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้มีความระมัดระวังและพยายามทำความเข้าใจกับคำว่าหุ้นราคาถูกเป็นเรื่องของกับดักหรือไม่

 

ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหุ้น ณ ระดับราคาปัจจุบันหรือราคาตลาด เพราะมองว่าเป็นระดับราคาที่ “ถูกแล้ว” เมื่อเทียบกับราคาในอดีตและราคาหุ้นของคู่แข่ง ควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย

เงินสดสุทธิต่อหุ้น (Net Cash per Share)

 

​เงินสดสุทธิต่อหุ้น คือ จำนวนเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด หรือกระแสเงินสดสุทธิหรือยอดคงเหลือ หลังจากหักเงินกู้ยืมระยะสั้นหารด้วยจำนวนหุ้น ยกตัวอย่างเช่น ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น ABC ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ราคา 12 บาทต่อหุ้น มีหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น

 

โดยงบดุลงวดล่าสุด มีเงินสดทั้งหมด 150 ล้านบาท หนี้สินระยะสั้น 80 ล้านบาท ดังนั้น เงินสดสุทธิจึงเท่ากับ 70 ล้านบาท (150 – 80) จากนั้นนำเงินสดสุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด จะเท่ากับ 7 บาทต่อหุ้น (70/10) นั่นหมายความว่าเงินสดสุทธิต่อหุ้น “น้อยกว่า” ราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบัน ดังนั้น แม้ว่าราคาหุ้นปรับลดลงแต่อาจไม่ใช่ระดับราคาที่ “ถูกและน่าสนใจ

 

มูลค่าของบริษัท (Enterprise Value)

 

Enterprise Value (EV) คือ มูลค่าสุทธิของกิจการ (มูลค่าตลาด + หนี้สินรวม - เงินสดรวม) หรือพูดง่าย ๆ ว่ามูลค่าทั้งหมดของบริษัท มีลักษณะคล้ายกับราคาตลาด (Market Price) เพื่อเปรียบเทียบความถูกแพงของราคาหุ้นกับมูลค่าที่ควรจะเป็น

 

 

 

จากตัวอย่างบริษัท ABC ที่ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ 12 บาทต่อหุ้น และเงินสดสุทธิต่อหุ้นมีมูลค่า 7 บาท แสดงว่าราคาหุ้นอยู่ในโซน “แพง” แต่สมมติว่าบริษัท ABC มีมูลค่าทั้งหมด 250 ล้านบาท มีหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น เมื่อเทียบราคาหุ้นกับมูลค่าของบริษัทจะอยู่ที่ 25 บาทต่อหุ้น (มูลค่าของบริษัท/จำนวนหุ้น) ดังนั้น หากใช้วิธีนี้เพื่อดูว่าหุ้นถูกหรือแพง อาจบอกได้ว่าราคาหุ้น ABC ณ ปัจจุบัน (12 บาทต่อหุ้น) อยู่ในโซน “ถูก” เมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัท

 

จากตัวอย่างบริษัท ABC ที่ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ 12 บาทต่อหุ้น และเงินสดสุทธิต่อหุ้นมีมูลค่า 7 บาท แสดงว่าราคาหุ้นอยู่ในโซน “แพง” แต่สมมติว่าบริษัท ABC มีมูลค่าทั้งหมด 250 ล้านบาท มีหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น เมื่อเทียบราคาหุ้นกับมูลค่าของบริษัทจะอยู่ที่ 25 บาทต่อหุ้น (มูลค่าของบริษัท/จำนวนหุ้น) ดังนั้น หากใช้วิธีนี้เพื่อดูว่าหุ้นถูกหรือแพง อาจบอกได้ว่าราคาหุ้น ABC ณ ปัจจุบัน (12 บาทต่อหุ้น) อยู่ในโซน “ถูก” เมื่อเทียบกับมูลค่าของบริษัท

 

โดยสรุป เมื่อเห็นราคาหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในสภาวะตลาดเป็นขาลง ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใจเข้าลงทุน แต่ควรพิจารณาให้ละเอียดด้วยการประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อยืนยันว่าราคาหุ้นเป็นระดับที่น่าสนใจหรือไม่ ​และเมื่อเจอหุ้นที่ถูกทั้งในแง่ของราคาตลาดเทียบกับเงินสดสุทธิต่อหุ้น รวมถึงมูลค่าของกิจการแล้ว จังหวะที่ดีที่สุดในการลงทุนควรเป็นจังหวะที่ตลาดเริ่มมีสัญญาณยืนยันปรับตัวเป็นขาขึ้น ด้วยการใช้สัญญาณทางเทคนิคเข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะหากเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งมักจะซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ยิ่งความเชื่อมั่นของตลาดดีขึ้น นักลงทุนมักจะจับตาดูอย่างใกล้ชิดและเริ่มเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามคือ ราคาหุ้นสามารถปรับขึ้นได้เช่นเดียวกัน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

บทความโดย :  เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต

 

ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, www.setinvestnow.com