คลังแจงแผนใช้เงิน “โครงการเงินดิจิทัล” สัปดาห์หน้า ประชุมอนุกรรมการกำกับฯ

27 เม.ย. 2567 | 01:41 น.
อัพเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2567 | 02:05 น.

ปลัดคลังคาดสัปดาห์หน้า “จุลพันธ์” รมช.คลัง ประชุมอนุกรรมการกำกับ “แจกเงินดิจิทัล” ระบุติดตามงาน 4 กลุ่ม พร้อมแจงแผนใช้เงิน ต้องรองบปี 68 บังคับใช้

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบ หลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัล วอลเล็ตแล้วนั้น รัฐบาลจึงได้เริ่มมอบหมายงานอย่างเป็นทางการ

โดยตั้งคณะอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงาน และจะได้เร่งพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มประชุมในสัปดาห์หน้า 

สำหรับการแบ่งการทำงานเป็น 4  ส่วน ได้แก่

  1. แหล่งเงิน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดูแล
  2. เกณฑ์และการลงทะเบียนร้านค้า มอบให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล
  3. การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า และระบบการใช้จ่าย   สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนา
  4. การตรวจสอบการกระทำผิด มอบหมายให้ทางสำนักงานตำรวจช่วยดูแล 

นายลวรณ กล่าวว่า ส่วนสิ่งที่มีความชัดเจนแล้ว ได้แก่ กรอบระยะเวลาโครงการ ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายโครงการได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 

ขณะที่เรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ได้แก่

1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 1.52 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องรอให้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีผลบังคับใช้ก่อน หรือคือต้องรอให้ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จึงจะทำให้รายละเอียดจำนวนงบประมาณตามความเป็นจริง จึงจะจัดทำเอกสารเสนอ   

ส่วนที่ 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามกฎหมาย มาตรา 28 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท  ก็ต้องรอพ.ร.บ.งบปี 2568 มีผลบังคับใช้เช่นกัน เนื่องจากว่ากระทรวงการคลัง จะยึดเพดานวงเงินตามมาตรา 28 ตามกรอบของงบปี 2568 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 32% ของงบประมาณรายจ่าย ยืนยันว่า เงินที่มาจากธ.ก.ส.ไม่ใช่เงินกู้

“วงเงินตามมมาตรา 28 นั้นที่ผ่านมารัฐบาลก็ใช้ในหลายโครงการ อาทิ การอุดหนุนสินเชื่อของสถานบันการเงินของรัฐต่างๆ ประกันรายได้เกษตรกร และโครงการไร่ละ 1000 บาท โดยกฎหมายก็ได้กำหนดเพดานไว้แล้วว่ารัฐบาลจะใช้ได้เท่าไหร่ และเชื่อว่าการใช่วงเงินดังกล่าวสำหรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น ก็เป็นไปตามกฎหมาย สามารถทำได้ ส่วนถ้ามีฝ่ายอยากให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก็ทำได้ แต่ต้องหลังจากงบปี 68 มีผลแล้ว เพราะเราจะยึดตามกรอบงบปี 2568”  

และ 3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท รวมเป็นเงิน ที่จะต้องรอให้พ.ร.บ.งบปี 2567 มีผลบังคับใช้ ซึ่งหลังจากใช้ไป 1-2 เดือน ก็จะเห็นงบประมาณรายจ่ายที่ไม่ได้ใช้มีเหลือเท่าไหร่ ซึ่งเชื่อว่างบปี 2567มีเวลาใช้เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น น่าจะทำให้เหลือวงเงินอย่างน้อย 1.75 แสนล้านบาท ตั้งเป็นพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ต่อไป