ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเตรียมเฮ จ่อคลอดกฎหมาย ทำประกันภัยให้ผู้โดยสาร

27 เม.ย. 2567 | 01:38 น.

รัฐบาลเตรียมออก กฎกระทรวงคุ้มครองผู้โดยสารรถไฟฟ้า โดยให้มีประกันภัยคุ้มครอง และได้รับชดเชยค่าเสียหายต่อชีวิตและร่างการ หากเกิดอุบัติเหตุ

จากมติเห็นชอบ "ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกันความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและร่างกายของคนโดยสาร พ.ศ. ...." ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 

ล่าสุด (27 เมษายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ไม่ได้ให้สัมปทาน ซึ่งยังไม่มีกฎกระทรวงรองรับเกี่ยวกับประกันความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต และร่างกายของคนโดยสารแต่อย่างใด 

ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันให้คนโดยสารได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการให้บริการรถไฟฟ้า ในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสารที่ รฟม. ดำเนินการเอง และให้ครอบคลุมถึงกรณีผู้รับสัมปทานกิจการรถไฟฟ้า

รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม (คค.) จึงได้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวให้ได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการจากรัฐอย่างปลอดภัย ครอบคลุม และมีหลักประกันได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากการให้บริการของรถไฟฟ้า

ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเตรียมเฮ จ่อคลอดกฎหมาย ทำประกันภัยให้ผู้โดยสาร

สำหรับรายละเอียดของ ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกันความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและร่างกายของคนโดยสาร พ.ศ. .... มีการกำหนดนิยามของคำสำคัญต่างๆ ดังนี้

“คนโดยสาร” หมายความว่า ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้ใช้ตั๋วโดยสารผ่านเข้าไปและอยู่ในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสารเพื่อวัตถุประสงค์ในการเดินทาง และให้รวมถึงบุคคลที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสารด้วย

“ความเสียหาย” หมายความว่า ความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและร่างกายของคนโดยสาร จากเหตุอันเกิดจากการให้บริการรถไฟฟ้า ในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร (แต่ไม่รวมถึงเหตุอื่น เช่น การทะเลาะกันระหว่างผู้โดยสาร การก่อการร้าย หรือจากความประมาทของคนโดยสาร)

“บริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร” หมายความว่า พื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าส่วนที่คนโดยสารได้ผ่านการตรวจตั๋วโดยสารแล้ว

“การประกันภัย” หมายความว่า การประกันภัยความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิตและร่างกายของคนโดยสาร จากเหตุอันเกิดจากการให้บริการรถไฟฟ้าในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร (ไม่ครอบคลุมถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของคนโดยสารและบุคคลอื่น)

“ผู้รับประกันภัย” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

จ่อคลอด กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า

โดยในร่างดังกล่าว กำหนดให้ รฟม. จัดให้มีการประกันภัย กับผู้รับประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป สำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ชีวิต และร่างกายของคนโดยสารซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีการใช้ตั๋วโดยสาร ในวงเงินความคุ้มครองที่เหมาะสม โดยอย่างน้อยต้องคำนึงถึงลักษณะ และประเภทของโครงการรถไฟฟ้า ตลอดระยะเวลาการให้บริการรถไฟฟ้า

ซึ่งไม่ได้ระบุจำนวนวงเงินความคุ้มครองไว้ในร่างกฎกระทรวงฯ เนื่องจากเป็นการประกันความรับผิดทางละเมิดต่อผู้เสียหาย มีลักษณะเป็นความเสียหายที่ไม่อาจทราบได้ว่าจะถูกเรียกร้องเป็นจำนวนเท่าใด โดยความเสียหายต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวจะพิจารณาตามลักษณะความร้ายแรงของอุบัติเหตุ ประกอบกับอาชีพหรือฐานานุรูปของผู้ประสบเหตุ เป็นต้น และเพื่อให้การกำหนดวงเงินสำหรับการประกันภัยเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินการของโครงการรถไฟฟ้าแต่ละโครงการ
                               
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ในกรณีที่ รฟม. ให้สัมปทานกิจการรถไฟฟ้า ให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่จัดให้มีการประกันภัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้แทน รฟม. และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และการประกันภัยดังกล่าวต้องคงมีอยู่ตลอดระยะเวลาตามสัญญาสัมปทาน โดยให้มี รฟม. เป็นผู้เอาประกันภัยร่วม และเป็นผู้รับประโยชน์ร่วม

ทั้งนี้ การประกันภัยดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รฟม. ก่อน เนื่องจากในกรณีที่มีการให้สัมปทานกิจการรถไฟฟ้า ให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่จัดให้มีการประกันภัยแทน รฟม. โดยให้ รฟม. ตรวจสอบให้การจัดทำประกันภัยสอดคล้องกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว
            
ซึ่งกำหนดให้การประกันภัยใดที่ได้ทำไปแล้ว ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าการประกันภัยนั้นจะสิ้นสุดความคุ้มครอง