เปิดเทคนิคเลือกหุ้น Undervalue ลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

21 พ.ค. 2565 | 01:39 น.

เปิดเทคนิค 5 วิธีเบื้องต้นในการคัดกรองหุ้น Undervalue ( ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง) เครื่องมือช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน

การประเมินมูลค่าหุ้น เป็นเครื่องมือที่จะช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือขายหุ้น เป็นการเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาด ณ ปัจจุบัน กับมูลค่าที่แท้จริงที่ได้ประเมิน โดยจะตัดสินใจลงทุนในหุ้น เมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ตรงกันข้ามจะตัดสินใจขายเมื่อราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง
 

ในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน จะมีหุ้น Undervalue (ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง) มากขึ้น เพราะมีหุ้นบางตัวที่ถูกขายออกมา โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐาน ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือเป็นช่วงที่นักลงทุนเกิดความตกใจ ไม่เชื่อมั่นในตลาด อาจทำให้หุ้นปัจจัยพื้นฐานดีถูกขายออกมา สำหรับเทคนิคเบื้องต้นที่นักลงทุนสามารถคัดกรองได้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Undervalue มีดังนี้  

 

  • อยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังมีการเติบโต (เป็นขาขึ้น) หากเข้าไปลงทุน ในอนาคตอาจสร้างผลตอบแทนได้เพิ่มขึ้น ในทางกลับกันหากอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตน้อยลงหรือตกต่ำ หากเข้าไปลงทุน ในอนาคตอาจสร้างผลตอบแทนได้ลดน้อยถอยลง
  • เป็นธุรกิจที่มีความสามารถเชิงการแข่งขันสูง
  • มีฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
  • ผู้บริหารมีความสามารถในการบริหารจัดการ มีวิสัยทัศน์ที่ดี เก่ง และมีจรรยาบรรณ
  • ราคาหุ้นต้องต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน

ถึงแม้ว่าหุ้น Undervalue จะมี 2 มิติ คือ เป็นหุ้นที่ดีและราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน กับเป็นหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานไม่แข็งแกร่ง ราคาหุ้นซื้อขายในระดับต่ำ แต่มีโอกาสพลิกฟื้น อย่างไรก็ตาม หุ้นประเภทนี้ถือเป็น “โอกาส” ในการเข้าไปลงทุน เพียงแต่นักลงทุนต้องระมัดระวังในการเลือก เน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่ราคายังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน

 

ขณะที่นักลงทุนที่กล้าเสี่ยงอาจมองหาหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่แข็งแกร่ง และราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน หมายความว่าหากสามารถหาหุ้น Undervalue ที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่แข็งแกร่ง อาจได้รับผลตอบแทนที่น่าประทับใจ เพราะมองเป็นหุ้นพลิกฟื้น (Turnaround Stock) ได้ด้วย

 

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น Undervalue มี 2 ลักษณะ คือ หากเป็นหุ้นที่ดีอยู่แล้ว เป็นที่รู้จักกันดี นักวิเคราะห์แนะนำให้ “ซื้อ” ราคาหุ้นมักจะวิ่งไปได้เรื่อย ๆ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน แต่อยู่ ๆ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ราคาหุ้นจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว  

 

อีกทั้ง ราคาหุ้น Undervalue จะเคลื่อนไหวในลักษณะใดนั้น ยังขึ้นอยู่กับว่าเป็นหุ้นประเภทใด เช่น ถ้าเป็นหุ้นที่มีค่าเบต้า (Beta) (เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของราคาหุ้นว่าหุ้นตัวใดเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยกว่ากัน) สูง ๆ ราคาจะปรับขึ้นและปรับลงได้เร็ว แต่ถ้าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ ๆ ราคาจะไม่ค่อยผันผวน

และเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นไปใกล้เต็มมูลค่า หุ้นที่เคยเป็น Undervalue จะหายไป และถ้าราคาขยับขึ้นไปสูงกว่าที่ควรจะเป็นก็จะกลายเป็นหุ้นที่มีราคายุติธรรม (Fair Value) แล้วก็เป็นหุ้น Overvalue (ราคาตลาดของหุ้น สูงกว่ามูลค่าหุ้นที่ประเมินได้)

 

อย่างไรก็ตามหุ้น Undervalue ทุกตัวใช่ว่าจะลงทุนได้ทั้งหมด ดังนั้น นักลงทุนต้องเข้าไปดูว่าจังหวะไหนควรลงทุนหุ้นตัวไหน เพราะถ้ายังไม่มีปัจจัยอะไรมารองรับในการขับเคลื่อนราคาหุ้น การเข้าไปลงทุนก็อาจจะไม่ได้อะไรเลย

 

มีคำถามตามมาว่า เป้าหมายการลงทุนหุ้น Undervalue ควรจะเป็นรูปแบบไหน จากคำแนะนำของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้มองส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) มากกว่าเงินปันผล แต่ถึงกระนั้นก็ต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน และการประเมินของนักวิเคราะห์ว่าให้ราคาเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน มีเหตุผลในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน การดำเนินธุรกิจแข็งแกร่งหรือไม่ และอย่าลืมเมื่อเน้น Capital Gain เป็นหลัก เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นถึงเป้าหมายก็ต้องขายทำกำไร

 

แน่นอนว่าหุ้น Undervalue ก็มีความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงตลาด โดยหุ้นประเภทนี้จะไม่สามารถยืนอยู่ได้หากตลาดหุ้นโดยรวมมีความผันผวนมาก เช่นเดียวกับความเสี่ยงของตัวบริษัท นั่นคือ การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจอาจมีความผิดพลาด หรือในบางครั้งผู้บริหารอาจให้ข้อมูลของธุรกิจคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง

 

หน้าที่ของนักลงทุนจึงควรพิจารณาว่าปัจจัยพื้นฐานมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามที่ประเมินหรือไม่ เช่น ปีนี้ธุรกิจจะเติบโตไปตามคาดหรือไม่ จึงต้องติดตามข้อมูลว่าเวลาผ่านไปตัวเลขจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด หรือจะยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้หรือไม่ ถ้ายังคงเดิมแสดงว่ายังเป็นหุ้น Undervalue แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่สำคัญต้องพิจารณาว่าหุ้นมีสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน เพราะกลยุทธ์ที่ดี คือ ไม่ควรลงทุนหุ้น Undervalue ที่ไม่มีสภาพคล่อง

 

สำหรับความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่ต้องระวังของหุ้น Undervalue คือ การมองโลกในแง่ดีจนเกินไปหรือสถานการณ์ในตลาดย่ำแย่กว่าที่คาดคิดเอาไว้ เพราะหุ้นที่ประเมินว่าเป็น Undervalue เมื่อมีปัจจัยเข้ามากระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงและความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น จะฉุดให้มูลค่าที่แท้จริงปรับลดลง ดังนั้น ก่อนลงทุนหุ้น Undervalue ต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

โดย :  ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

 

อ้างอิงบทความ  :  "ตลาดไม่แน่นอน มองหาหุ้น Undervalue