อาการลองโควิดในวัยรุ่นมีอะไรบ้าง น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่

26 ก.พ. 2566 | 23:42 น.

อาการลองโควิดในวัยรุ่นมีอะไรบ้าง น่ากลัวแค่ไหน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอกายาม่า ประเทศญี่ปุ่น พบเปิดข้อมูลกลุ่มอาการ Long COVID ที่มีการรายงานว่าพบในผู้ป่วยทั่วโลก

อาการลองโควิดในวัยรุ่นเป็นอย่างไร เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาตลอด หลังจากที่โควิด 19 มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ และรักษาจนหายเป็นจำนวนมาก แต่อาการคงค้างที่เรียกว่า "Long Covid" ยังพบได้ตลอด

ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความเกี่ยวกับลองโควิด

อาการ Long COVID ในวัยรุ่น :

หมอธีระบอกว่า ทีมงานจากมหาวิทยาลัยโอกายาม่า ประเทศญี่ปุ่น ทำการศึกษาอาการ Long COVID ในผู้ป่วยเด็กวัยรุ่นอายุ 11-18 ปี ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 ถึงตุลาคม 2565

จากกลุ่มผู้ป่วย Long COVID 452 คนที่มารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยที่เป็นเด็กวัยรุ่น 54 คน (11.9%)

พบว่าปัญหา Long COVID ในเด็กวัยรุ่นหลังจากติดเชื้อโควิด-19 นั้น มักมีอาการที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า (55.6%) และปวดหัว (35.2%)

ทั้งสองอาการข้างต้น พบมากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในช่วง Omicron ระบาด

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญของงานวิจัยนี้ก็คือ ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเด็กวัยรุ่นที่เป็น "ลองโควิด" ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ 

โดยมีเหตุผลหลักคืออาการป่วยจาก Long COVID ได้แก่ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ปวดหัว และนอนไม่หลับ

อาการลองโควิดในวัยรุ่นมีอะไรบ้าง น่ากลัวแค่ไหน

ทั้งนี้ ข้อมูลวิจัยข้างต้นเป็นผลการศึกษาจากกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น 

อาจไม่สามารถใช้เป็นตัวแทนประเมินภาพรวมของลักษณะอาการ Long COVID ในเด็กวัยรุ่นทั้งหมด ที่อาจมีกลุ่มที่อาการน้อยไม่ได้มารับการดูแลรักษา

อย่างไรก็ตาม ก็ช่วยกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ผู้ปกครองอาจช่วยดูแลลูกหลาน คุณครูช่วยกันดูแลลูกศิษย์ และใช้เป็นความรู้ในการสังเกต ประเมินเด็กๆ หลังติดเชื้อได้

ภาวะหัวใจเต้นเร็วเมื่อเปลี่ยนท่า หลังจากติดเชื้อโควิด-19 :

หมอธีนะ ยังระบุอีกว่า หนึ่งในกลุ่มอาการ Long COVID ที่มีการรายงานว่าพบในผู้ป่วยทั่วโลกคือ 

ภาวะหัวใจเต้นเร็วเมื่อเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืน หรือเมื่อออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome: POTS)

ล่าสุดทางวารสารการแพทย์ British Medical Journal ได้เผยแพร่แนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากหัวใจเต้นเร็ว จนทำให้เกิดอาการใจสั่นแล้ว ผู้ป่วยอาจมีปัญหาระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ (Dysautonomia) 

ซึ่งทำให้มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนหัว เจ็บหน้าอก เหนื่อย ท้องอืด เหงื่อออกมาก เป็นต้น

กลุ่มอาการผิดปกติจาก POTS และ Dysautonomia นั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

หากมีอาการข้างต้นยาวนานต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอื่นๆ จะได้ทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะอาจมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ด้วย

ในกรณีที่ไม่มีโรคอื่นร่วม แต่เป็น Long COVID ก็จะมีการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว และ/หรือให้การดูแลรักษาเป็นรายกรณีไป ยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน