แห่สมัคร สว. 2 วันยอดรวมทั่วประเทศ 11,249 คน

21 พ.ค. 2567 | 13:45 น.

กกต.เปิดรับสมัคร สว. วันที่สองมีผู้สมัครเพิ่มอีก 6,607 คน รวมยอด 2 วัน มีผู้สมัครแล้ว 11,249 คน เปิดรับสมัครถึงวันศุกร์นี้

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า จากข้อมูลการเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 ในวันแรกทั่วประเทศ 20 กลุ่มสาขาอาชีพ มีผู้สมัครจำนวน 4,642 คน 

และในวันนี้ ซึ่งถือเป็นวันที่สองของการรับสมัคร มีผู้สมัครอีก 6,607 คน รวมยอด 2 วันมีผู้สมัครแล้ว 11,249 คน ทั้งนี้ การเปิดรับสมัครเลือก สว. จะเปิดไปจนถึงวันศุกร์ที่ 24 พ.ค.นี้

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการรับสมัคร สว. ว่า เป้าหมายเฉพาะหน้าที่อยากเห็นคือ กระบวนการคัดเลือกเป็นไปด้วยความราบรื่น เพื่อให้ได้ สว.ชุดใหม่ ภายในเดือน ก.ค. ถึงแม้ไม่ใช่กระบวนการเลือกที่มาจากประชาชน แต่อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด 

ทั้งนี้ กระบวนการรับสมัครที่ผ่านมา ตนขอเรียกร้องเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

1.กำชับให้การรับสมัครหน้างาน ไม่เป็นการปฏิเสธผู้สมัครเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตอนนี้ยังเห็นการเรียกเอกสารที่เกินความจำเป็น เช่น สำเนาสูติบัตรจากผู้สมัคร อาจทำให้เกิดความล่าช้า 

2.ต้องทำให้ทุกหน่วยรับสมัครมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น บางหน่วยที่เปิดรับสมัคร มีการตีความคุณสมบัติผู้สมัครไม่เท่ากัน 

และ 3.ป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของข้อมูลผู้สมัคร สว.เพื่อป้องกันการฮั้วหรือจัดตั้งกันมาสมัคร

เมื่อถามถึงขณะที่มีรายงานว่ามีการฮั้วสมัคร สว.แล้วในพื้นที่ กทม. นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องการฮั้ว ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนให้ชัดเจน คือ 

1.ต้องการให้มีคนสมัครเยอะที่สุด เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อระบอบประชาธิปไตย ยิ่งมีผู้สมัครเยอะเท่าไหร่ การแข่งขันก็จะเข้มข้นขึ้น และนำมาสู่การคัดกรองผู้ที่มีความเหมาะสมได้ 

2.การฮั้ว มีการนิยามไว้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการจับกลุ่มโหวตให้กันและกัน หรือการใช้เงินในการจ้างคนสมัคร เพื่อโหวต ซึ่งชัดเจนว่าผิดกฎหมาย จึงต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา

เมื่อถามว่า เรื่องการฮั้วเลือก สว.มีผู้ร้องเรียนมาที่พรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตามเจตนาของกฎหมายแล้ว พยายามไม่พรรคการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องต่อกระบวนการคัดเลือก สว. ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่หากมีข้อร้องเรียนส่งเข้ามา จะต้องส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป 

ส่วนข้อกังวลเรื่องการจัดตั้งจะทำให้ได้ สว.ไม่ตรงสเป็กนั้น ตนมองว่าจะไม่เกิดขึ้นต่อเมื่อมีผู้สมัครจำนวนมาก เพราะจะทำให้ความพยายามของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจางลงไปโดยปริยาย พร้อมย้ำว่าการเลือก สว.ยังห่างไกลกับมาตรฐานสากล เนื่องจาก สว.ชุดใหม่ยังสามารถยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ ถือว่าอำนาจยังมีล้นอยู่ หากมีอำนาจเช่นนี้ ควรได้รับเลือกมาจากประชาชน ดังนั้น เมื่อกระบวนการเฉพาะหน้าแล้วเสร็จ ควรมีการพูดคุยแนวทางและแก้ไขโครงสร้างอำนาจของ สว.ใหม่