กรมอนามัย แนะเคล็ดลับ กินปลากระป๋อง อย่างไรให้ปลอดภัย

07 ม.ค. 2564 | 09:10 น.

กรมอนามัย เผย เคล็ดลับ แนะประชาชนกินปลากระป๋องให้ปลอดภัยทำได้ง่ายๆ

จากกรณีปรากฏข่าวการคัดกรองโควิด-19 ยืนยันว่า พบคนงานโรงงานปลากระป๋องในจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนจำนวนมาก กังวล ไม่มั่นใจที่จะบริโภคปลากระป๋อง เพราะกลัวการปนเปื้อนหรือติดเชื้อโควิดที่อาจติดมากับบรรจุภัณฑ์ได้นั้น นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สำหรับโรงงานที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ในการควบคุมกระบวนการผลิตให้เกิดความปลอดภัย มีการป้องกันการปนเปื้อน รวมถึงไวรัสและการติดเชื้อต่างๆก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้

 


 

 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราไม่ทราบว่า ผู้ติดเชื้ออยู่ในขั้นตอนไหนของสายการผลิต แม้ว่ากระบวนการทำปลากระป๋องนั้น เนื้อปลาที่อยู่ในกระป๋องหลังบรรจุเสร็จที่ถูกความร้อนทั้งขั้นตอนทำปลาให้สุกและขั้นตอนใส่ซอสแล้วฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำเพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศภายในกระป๋อง แล้วนำมาปิดผนึก และใช้วิธีการนึ่งกระป๋องเพื่อฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิประมาณ 118 - 122 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 - 70 นาที โดยใช้ความร้อนสูงเพื่อทำลายจุลินทรีย์กับแบคทีเรีย ซึ่งมั่นใจได้ว่า เชื้อไวรัสจะตายหมด

 

แต่ในขั้นตอนการนำกระป๋องมาบรรจุในหีบห่อ ตลอดจนนำไปขนส่งก็อาจจะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่เกิดจากการสัมผัสของคนงานได้ ดังนั้น หากพบคนงานติดเชื้อที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิตจุดใดจุดหนึ่ง และบริษัทได้ดำเนินการฆ่าเชื้อในขั้นตอนดังกล่าวแล้วก็จะมีความปลอดภัย

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการเลือกซื้อปลากระป๋องในช่วงนี้ ประชาชนควรเลือกซื้อกระป๋องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บุบ โดยเฉพาะตะเข็บหรือรอยต่อของกระป๋องต้องเรียบ ฝาหรือก้นกระป๋องแบนเรียบ ส่วนขอบกระป๋องจะต้องไม่มีรอยรั่วซึม ไม่เป็นสนิม ไม่โป่งนูน เนื่องจากมีแรงดันของก๊าซที่เกิดจากการเน่าเสียของอาหารภายในกระป๋อง และให้ดูฉลากสินค้าที่ผ่านการตรวจรับรองและมีเลขสารบบอาหารหรือตัวเลขหลังเครื่องหมาย อย.

 

พร้อมทั้งสังเกตวัน เดือน ปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ที่สำคัญก่อนบริโภคทุกครั้งควรทำความสะอาดกระป๋องและหีบห่อเมื่อซื้อมา แล้วจัดเก็บพร้อมกับล้างมือทันที และเมื่อจะบริโภคควรนำปลามาปรุงผ่านความร้อนอีกครั้งก็จะช่วยสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวให้คำแนะนำ 

 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวบ! แรงงานพม่า "วังหลัง" ตรวจหาเชื้อ สกัดข่าวติดโควิด

ศบค.กลับลำ​ ไม่โหลด"หมอชนะ"​ ไม่ผิดกฎหมาย

"อนุทิน" ยัน ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19