svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ฮ่องกงจัดซัมมิตปั้นฮับบริหารความมั่งคั่ง ดึงบิ๊กเนม“เจียรวนนท์”เข้าร่วม

24 มีนาคม 2566

รัฐบาลฮ่องกงจัดงานใหญ่ Wealth for Good Summit ศุกร์นี้ (24 มี.ค.) ดันฮ่องกงเป็นฮับบริหารความมั่งคั่ง เชิญนักธุรกิจตระกูลใหญ่รวมทั้ง"เจียรวนนท์” เข้าตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) ในฮ่องกง บริหารความมั่งคั่ง 3.3 แสนล้านดอลลาร์  

เซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ สื่อใหญ่ของฮ่องกง รายงานว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมด้วยนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโต ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะเป็นแขกพิเศษเข้าร่วมงานกาลาดินเนอร์ของการประชุมผู้นำ Wealth for Good Summit ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกงในวันศุกร์นี้ (24 มี.ค.) โดยข่าวระบุว่า ตระกูลเจียรวนนท์ กำลังเตรียมตั้ง สำนักงานครอบครัว (Family Office) ในฮ่องกงเพื่อบริหารความมั่งคั่ง 3.3 แสนล้านดอลลาร์ของตระกูล

นายคริสโตเฟอร์ ฮุย รัฐมนตรีคลังและบริการทางการเงินของฮ่องกง เปิดเผยว่า ฮ่องกงกำลังผลักดันนโยบายให้ชาวต่างชาติเข้าไปตั้งสำนักงานครอบครัว หรือ Family Office (FO) ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สิน รักษาความมั่งคั่ง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และดูแลบุคคลในครอบครัว เช่น จองที่พัก จัดหาผู้ช่วยส่วนตัว ฯลฯ โดยในวันที่ 24 มี.ค.นี้จะมีการประชุมผู้นำ “Wealth for Good Summit” ดึงดูดครอบครัวเศรษฐีทั่วโลกมาตั้ง Family Office ในฮ่องกง

“ผมเชื่อว่านโยบายใหม่ๆที่มีความหลากหลายของเราจะดึงดูดให้บรรดาตระกูลใหญ่สุดของโลกเข้ามาตั้งออฟฟิศบริหารจัดการความมั่งคั่งกันที่ฮ่องกง ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์เท่านั้น แต่ยังมีบริการช่วยบริหารโครงการด้านการกุศลและการสะสมงานศิลปะที่จะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น” นายฮุยกล่าว

เรียกว่าทุกความสนใจของบรรดาเศรษฐีตระกูลใหญ่จะรวมครบจบที่ฮ่องกง ซึ่งในงานซัมมิตนี้จะแบ่งเป็นความสนใจใน 4 กลุ่ม คือการบริหารจัดการงานด้านมนุษยธรรมและการกุศล การจัดการด้านของสะสมและงานศิลปะ การบริหารจัดการเทคโนโลยี และความมั่งคั่งแบบรักษ์โลกซึ่งจะครอบคลุมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่ยั่งยืน และธรรมภิบาล (ESG)

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

สนใจตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) ในฮ่องกง

รัฐบาลฮ่องกงต้องการส่งเสริมเมืองนี้ให้เป็นศูนย์กลางการจัดการความมั่งคั่งและการกุศลของเอเชีย และเตรียมประกาศ “ชุดมาตรการจูงใจ” ในงานซัมมิตศุกร์นี้ (24 มี.ค.) โดยไฮไลท์การประชุมผู้นำ Wealth for Good Summit นี้ คือการดึงดูดให้บรรดาตระกูลใหญ่เข้ามาตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่นี่ โดยงานนี้จะมีผู้บริหารสำนักงานกว่า 100 รายเข้าร่วม

นายอเล็กซ์ เจียรวนนท์ รองประธานบริษัทซีทีไบรท์ หลานชายของนายธนินท์ กล่าวกับเซาธ์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ว่า ทั้งนายธนินท์และนายสุภกิต จะเข้าร่วมงานกาลาดินเนอร์เพื่อมาเห็นและเข้าใจอนาคตของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางให้อภิมหาเศรษฐีเข้ามาลงทุนและทำสิ่งที่ดีได้ดียิ่งขึ้น ด้วยตาตนเอง

“เรามองฮ่องกงในฐานะจุดตัดที่สิ่งดีๆ หลายอย่างมาบรรจบกัน ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของโลก เก็บภาษีต่ำ และมีไลฟ์สไตล์มีชีวิตชีวา” อเล็กซ์ หรือชื่อไทยว่า “เอกชัย” กล่าวกับสื่อฮ่องกง อย่างไรก็ตาม นายธนินท์และนายสุภกิต จะไม่ได้ร่วมเวทีเสวนาในงานซัมมิต เนื่องจากติดภารกิจและตารางงานที่แน่นเอียด พวกเขาจะออกจากฮ่องกงด้วยเครื่องบินส่วนตัวหลังจบงานกาลาดินเนอร์ แต่จะมีผู้บริหารกลุ่มซีพีคนอื่นเข้าร่วมการประชุมแทน 

บริหารความมั่งคั่ง 337,000 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุ ตระกูลเจียรวนนท์ซึ่งนิตยสารฟอร์บส ประเมินความมั่งคั่งไว้ที่ 337,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2560 ยังไม่มีสำนักงานธุรกิจครอบครัว (FO)ในฮ่องกง แม้เป็นต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีนเป็นรายแรกๆ และมีความมั่งคั่งมากที่สุดรายหนึ่ง

นอกจากนี้ กลุ่มซีพียังทำธุรกิจมากมายในจีนแผ่นดินใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ปีก การผลิตอาหารสัตว์ ไปจนถึงการค้าปลีก ถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกๆที่เข้ามาในจีน ตอนที่จีนเปิดให้เมืองเสิ่นเจิ้นเป็นพื้นที่ทดลองปฏิรูประบบตลาดตามระบบทุนนิยม ซึ่งกลุ่มซีพีได้เข้าไปลงทุนและได้ใบอนุญาตทำธุรกิจหมายเลข 0001

กระทั่งปัจจุบัน ธุรกิจของกลุ่มซีพียังคงมีการเติบโตรุดหน้า โดยทางกลุ่มเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวใหญ่สุดของ “ผิงอัน อินชัวรันซ์ กรุ๊ป” บริษัทประกันรายใหญ่สุดของจีน แม้สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเหลือ 6.8% จากที่ซื้อมา 15.6% จาก HSBC เมื่อปี 2555 นอกจากนี้ บริษัทยังซื้อ ซิติก ลิมิเต็ด (Citic Limited) กลุ่มบริษัทใหญ่อันดับ 5 ของจีน ผ่านการลงทุน 80,300 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อปี 2558 กับบริษัทอิโตชูของญี่ปุ่น

บริษัทในเครือซีพีหลายแห่งลงทุนจากสำนักงานในฮ่องกง เช่น ซีทีไบรท์ เป็นบริษัทลงทุนในกลุ่มซีพีที่นายอเล็กซ์ ขึ้นตรงกับนายสุภกิต

“คุณลุงผมกระตือรือร้นอยากทำอะไรสักอย่างในฮ่องกง ดังนั้น สำนักงานธุรกิจครอบครัวจึงเป็นโอกาสที่ดีในการใช้โครงการริเริ่มของรัฐบาลฮ่องกงผนึกการลงทุนอันมากมายของตระกูล” อเล็กซ์กล่าว

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานว่า นายอภิชาติ บิดาของนายอเล็กซ์อยู่ในฮ่องกง เขาเป็นบุตรของนายเจีย เซี่ยวฮุย น้องเล็กคู่สองพี่น้องที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มซีพีในปี พ.ศ.2464 ส่วนนายธนินท์นั้น เป็นลูกชายคนสุดท้องของนายเจีย เอ็กชอ พี่ใหญ่

การมาเยือนของผู้นำฮ่องกง

แผนการตั้งสำนักงานครอบครัวของตระกูลเจียรวนนท์ในฮ่องกงเกิดขึ้น 4 เดือนหลังจากนายจอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเลือกเยือนไทยเป็นที่แรกหลังรับตำแหน่ง ซึ่งเขาได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค)ที่กรุงเทพฯเมื่อเดือนพ.ย.2565

นายจอห์น ลี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค 2022 ที่กรุงเทพฯ (18-19 พ.ย.2565)

ช่วงเวลา 4 วัน ที่นายลีมาพร้อมกับผู้บริหารภาคธุรกิจอีก 20 คน เขาได้พบกับนายกรัฐมนตรีของไทยและนักธุรกิจใหญ่ เช่น กลุ่มซีพี ซึ่งนายอเล็กซ์เผยว่า นายลีได้คุยกันเป็นอย่างดีกับเจ้าสัวธนินท์แห่งกลุ่มซีพี

ทั้งนี้ กลุ่มซีพีเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่สุดของประเทศไทย ธุรกิจมีตั้งแต่อาหารสัตว์ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า โทรคมนาคม และร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่มีอยู่ทั่วประเทศ นายธนินท์ที่จะอายุครบ 84 ปี ในเดือนหน้า เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการประเมินของฟอร์บส์

นายธนินท์ลงจากตำแหน่งประธานกลุ่มซีพีในปี 2560 หลังจากบริหารมานาน 48 ปี โดยตั้งนายสุภกิต บุตรชายคนโตเป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนนายศุภชัย บุตรชายคนเล็กเป็นประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

“ประธานของเรามักมองฮ่องกงในแง่ดีเสมอ เราไม่เรียกการมาเยือนของนายลีว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเราทำในสิ่งที่เคยทำมาอยู่แล้ว” นาย Lung Navikapol (มาร์โก) รองประธานอาวุโสซีทีไบรท์ ผู้ทำงานกับนายอเล็กซ์ในฮ่องกงกล่าวกับสื่อฮ่องกง แต่การเยือนไทยของนายจอห์น ลี มีผลในแง่ที่ช่วยทำให้ผู้บริหารระดับสูงของซีพีอยากทุ่มเททรัพยากรเข้ามาสู่ฮ่องกงมากขึ้น

นายอเล็กซ์ ยังกล่าวเสริมว่า จีนยอดเยี่ยมในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์และแบตเตอรีอีวีเป็นสาขาที่ทางกลุ่มซีพีสนใจ โดยมองไปถึงโอกาสที่จะขยายตลาดไปทั่วโลกด้วย ในระดับกลุ่มบริษัท 70% ของการลงทุนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตอาหาร 30% ทำสาขาอื่น เช่น เทคโนโลยี เมื่อตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวในฮ่องกงแล้วกลุ่มซีพีอาจปรับโครงสร้างธุรกิจบางอย่าง แต่แผนงานยังอยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมการ

 

ข้อมูลอ้างอิง